ชัชชาติเปิด 4 เคล็ดลับบริหาร มัดใจประชาชน

ชัชชาติ

ชัชชาติ ปาฐกถาพิเศษ “บริหารอย่างไร ให้ชนะใจประชาชน” ย้ำจุดยืน กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

วันที่ 9 กันยายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถาพิเศษในงานเวทีท้องถิ่นไทย ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ “บริหารอย่างไร ให้ชนะใจประชาชน”

นายชัชชาติกล่าวว่า การได้เห็นหัวข้อบรรยายและรู้ว่าผู้ที่มาฟังในวันนี้เป็นใคร ก็คิดว่าต้องมาให้ได้ เพราะงานนี้รวมเหล่าคนทำงานท้องถิ่นไว้ด้วยกัน และเชื่อว่าพลังของเมืองมาจากท้องถิ่น การมาพูดในวันนี้ อาจเหมือนเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เพราะหลายคนในที่นี้ผ่านงานมามากกว่าผมที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้เพียง 3 เดือน

แต่เชื่อว่าโลกเปลี่ยนไปทุกวัน การได้นำความรู้มาแบ่งปันกัน ผมเชื่อว่าเราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เกริ่นก่อนเข้าสู่เนื้อหาว่าด้วยเรื่อง บริหารอย่างไร ให้ชนะใจประชาชน ที่ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลักคือ

1. จุดเริ่มต้น
ในวันแรกที่จัดตั้งทีมเพื่อลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นด้วยคำถาม 3 ข้อที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ คือ เราเชี่ยวชาญในเรื่องที่จะทำหรือไม่ สิ่งที่เราทำยังเกี่ยวข้องกับโลกไหม และทีมยังสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่หรือไม่

คำตอบของผม(ในวันที่ยังไม่เป็นผู้ว่าฯ กทม.) ต่อคำถามทั้ง 3 คือ การเตรียมตัวอย่างหนัก การไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วพร้อมรับในสิ่งที่เรายังขาด ปรับความคิดให้ก้าวไปทันโลก และสนุกกับงานที่ทำ ทำให้ผมเดินหน้าต่อ สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกไปให้ชาว กทม. ได้รับรู้และได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

2. การพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายนายชัชชาติ ยกตัวอย่างถึงการจัดลำดับของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นอันดับ 1 ในเมืองน่าเที่ยว แต่กลับเป็นอันดับที่ 98 ของเมืองน่าอยู่

ความน่าอยู่ของเมืองต้องเริ่มจากหน่วยย่อยไปสู่หน่วยใหญ่ กลายเป็นแนวความคิดเส้นเลือดฝอยที่แข็งแรง เช่น หากมองว่าเส้นเลือดใหญ่ของขนส่งสาธารณะ กทม. คือ รถไฟฟ้าหลากหลายสายที่ค่อนข้างสะดวกสบาย แต่เมื่อมองไปถึงเส้นทางอื่น เช่น รถตู้ รถเมล์ นั้นยังมีปัญหาอยู่มาก

การพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายจึงปรับวิธีคิดใหม่ เกิดเป็นแนวนโยบาย 9 ด้าน ที่มี 28 กลุ่มแผนปฏิบัติการ แยกย่อยเป็น 216 แผนปฏิบัติการ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ 216 นโยบายที่ครอบคลุมเส้นเลือดฝอยทั่วกรุงเทพฯ

3. การบริหารและสื่อสารความคืบหน้าสามารถสรุปเป็นหลักการ 6 ข้อ ในการบริหารและสื่อสารความคืบหน้าที่ใช้มาตลอดในการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คือ ‘นำโดยทำเป็นตัวอย่าง’ – ทำให้ผู้ร่วมงานดูเป็นตัวอย่าง ‘ทำตามที่พูด’ – พูดอย่างไรต้องทำอย่างนั้น ‘ร่วมทุกข์ร่วมสุข’ – ลงไปอยู่ทุกช่วงเวลาทั้งกับผู้ร่วมงานและประชาชน ‘หันหลังให้ผู้ว่า หันหน้าให้ประชาชน’ – ผู้บริหาร คนทำงาน ต้องให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง, ‘เราคือเพื่อนร่วมงาน’ – ทุกคนไม่ว่าตำแหน่งเล็กหรือใหญ่ล้วนคือเพื่อนร่วมงานกัน ‘สร้างการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้’ – ด้วยสื่อที่เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย สร้างสรรค์และสม่ำเสมอ

4. สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง นายกล่าวถึงผลการทำงานที่ได้ทำตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา หลายนโยบายเริ่มทำและดำเนินการไปแล้ว บางอย่างอาจเห็นผลช้า บางอย่างอาจเห็นผลทันตา แต่สิ่งที่ยืนยันได้คือ ทุกกิจกรรม ทุกการดำเนินงานต้องเปิดเผยให้ประชนเห็นได้ ตรวจสอบได้ มีส่วนร่วมได้ ตามแนวคิดกรุงเทพฯเปิดเผย เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

“ผมเชื่อว่าที่ผ่านมา คนหมดความหวัง หมดความศรัทธากับระบอบประชาธิปไตย หลายคนเชื่อว่าระบอบนี้ไม่สามารถเลือกคนดีเข้ามาทำงานได้ หน้าที่ของเราคือ ทำงานให้ดี มีนโยบายที่ดี มีความโปร่งใส ผมเชื่อว่าประชาชนจะกลับมามีศรัทธาได้ ระบอบประชาธิปไตยยังสามารถเลือกคนดีเข้ามาทำงานได้ และอนาคตทุกเมืองจะเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้” นายชัชชาติกล่าวทิ้งท้าย