กทม. ตรวจเยี่ยมชุมชนต้นแบบวังทองหลาง เตรียมปรับปรุงสวนสาธารณะ 3 แห่ง

รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์เยี่ยมชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะย่านวังทองหลาง สำรวจสวนร่วมใจและวังทอง ปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที

วันที่ 19 กันยายน 2565 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่เขตวังทองหลาง

โดยนายจักกพันธุ์ ผิวงาม ได้ตรวจเยี่ยมชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนหมู่บ้านพลับพลา โครงการ 1 ซอยรามคำแหง 21 มีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ประชากร 800 คน จำนวน 201 ครัวเรือน เป็นชุมชนหมู่บ้านจัดสรร ได้รับการพัฒนาที่อยู่อาศัยรูปแบบบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยเขตได้กำหนดแนวทางการคัดแยกขยะ 4 ประเภท พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ดังนี้

1. ขยะรีไซเคิล รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขายที่แหล่งกำเนิด

Advertisment

2. ขยะอันตราย กำหนดวันเก็บขยะอันตรายอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

3. ขยะอินทรีย์ ส่งเสริมให้ตั้งถังหมักปุ๋ยอินทรีย์รวมของชุมชน กำหนดวันเวลาจัดเก็บและกำจัดโดยนำกลับมาใช้ประโยชน์

4. ขยะทั่วไป กำหนดวันเวลาจัดเก็บตามความเหมาะสม

ปัจจุบันมีปริมาณขยะมูลฝอยลดลง และมีขยะมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ สำหรับปริมาณขยะทั้งหมดก่อนดำเนินการ คือ 980 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน 0.0012 กิโลกรัม/วัน (ฐานของข้อมูล ปี 2564) ปริมาณขยะทั้งหมดหลังดำเนินการ คือ 820 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน 0.0010 กิโลกรัม/วัน (ฐานของข้อมูล ปี 2565) ปริมาณขยะส่วนต่างที่ลดลง คือ 160 กิโลกรัม/วัน

Advertisment

จากนั้นได้ลงพื้นที่สำรวจสวนร่วมใจ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแฟลตตำรวจ สน.วังทองหลาง มีพื้นที่ประมาณ 1 งาน เป็นสวนหย่อมขนาดเล็กใช้พักผ่อนและออกกำลังกาย อยู่ในความรับผิดชอบของ สน.วังทองหลาง ส่วนที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งยังมีพื้นที่อีกประมาณ 1 ไร่เศษ ควรได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม

ในส่วนของสวนสาธารณะวังทอง 1 และ 2 ตั้งอยู่ซอยลาดพร้าว 71 กับ 73 เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็ก มีพื้นที่ให้บริการประมาณ 1 ไร่ เปิดให้บริการประชาชนเข้ามาออกกำลังกายและพักผ่อน ตั้งแต่เวลา 05.00-19.00 น. ทุกวัน

โดยจัดเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด ดูแลต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งในบริเวณสวนและบริเวณโดยรอบ ทั้ง 2 สวน เพื่อความสวยงามและความสะอาดเรียบร้อย

ปัจจุบันภายในสวนทั้ง 3 แห่ง มีสิ่งที่ชำรุดเสียหาย ต้องดำเนินการปรับปรุง อาทิ ป้ายบอกชื่อสวน ป้ายแจ้งเตือนต่าง ๆ รั้วชำรุดและประตูรั้วใช้การไม่ได้ ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ห้องน้ำ ห้องสุขา รวมถึงการออกแบบสวนให้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อปรับปรุงเป็น “สวน 15 นาที” สวนหย่อมขนาดเล็กให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์สำหรับการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจใกล้บ้าน