แปดริ้วร้อง! ของบซ่อมไม่อนุมัติ ถนนเลียบคลองพัง สร้างความเดือดร้อนไร้การซ่อมแซมนาน

เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นายกิตติพันธ์ โรจนชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน เกี่ยวกับถนนเลียบคลองส่งน้ำโครงการชลประทานที่พังชำรุดเสียหาย สร้างความเดือดร้อนการสัญจรไปมานานแล้ว โดยมีนายจิระโชติ ปัญญาประดิษฐ์ ผอ.แขวงทางหลวงชนบทจังหวัดฉะเชิงเทรา นายวีระวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมชลประทานจังหวัดฉะเชิงเทรา นายเฉลิมเกียรติ นพเกตุ นายก อบต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว นาย กรีฑา นพเกตุ กำนันตำบลหนองแหน และชาวบ้านที่เดือดร้อนเข้าร่วมประชุม

นายเฉลิมเกียรติ นพเกตุ นายก อบต.หัวสำโรง กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว เป็นเส้นทางเชื่อมโยงกันจากตำบลเกาะขนุน ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม กับ ตำบลหัวสำโรง ตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว ยาวไปถึงตำบลแหลมประดู่ อำเภอบ้านโพธิ์ มีระยะทางรวมเกือบ 20 กม.สภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ และขาดการซ่อมบำรุงมานาน ป้ายบอกทางตามโค้ง ตามจุดแยกหรือริมทางก็เสื่อมสภาพ ไฟส่องสว่างตามถนนก็ไม่มี ชาวบ้านต่างได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ที่ผ่านมาทำได้เพียงขออนุญาตกรมชลประทานใช้พื้นที่ปรับปรุงซ่อมแซมตรงจุดที่ชำรุดเสียหายได้ไม่มาก เพราะเกินศักยภาพในเรื่องงบประมาณ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ซึ่งควรจะมีการแก้ไขปรับปรุงซ่อมแซมให้เป็นถนนที่ได้มาตรฐาน เพราะถนนสายนี้ สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาจากอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ผ่านไปยังจังหวัดทางภาคอีสานได้หลายจังหวัด

นายสมศักดิ์ เนตรนาถ สมาชิก อบต.ม.4 ต.หนองแหน กล่าวว่า กรมชลประทานบอกว่าไม่มีงบประมาณ แต่ควรจะเจียดรายได้จากการส่งน้ำไปขายให้กับการประปาลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์ และขายให้ภาคเอกชน การนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี ลูกบาศก์เมตรละ 3 บาท รวมกันวันละกี่หมื่น กี่แสนลูกบาศก์เมตรลองคำณวนดู ซึ่งมีรายได้จากการขายน้ำไม่ใช่น้อยๆ ควรจะมองปัญหาของชาวบ้านและช่วยเหลือแก้ไข ควบคู่กันไปด้วย การอ้างว่า กรมชลประทาน มีหน้าที่หลักการแก้ไข บริหารจัดการเรื่องระบบน้ำชลประทาน ก็จริงอยู่ แต่ถนนที่เกิดขึ้นมาจากการขุดลอกคลอง ชาวบ้านก็ขออาศัยใช้ถนนไปด้วย เพราะไม่รู้จะไปใช้เส้นทางไหน ตนเองไม่อยากให้เรื่องแค่นี้ ต้องคอยให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนปัจจุบัน ซึ่งกำกับดูแลกรมชลประทานและเป็นคนแปดริ้ว ลงมาดูปัญหาด้วยตนเอง

ด้านนายจิระโชติ ปัญญาประดิษฐ์ ผอ.แขวงทางหลวงชนบทฉะเชิงเทรา กล่าวว่า แขวงทางหลวง ได้รับการถ่ายโอนพื้นที่ถนนเลียบคลองของกรมชลประทานมาแล้วหลายเส้นทาง ก็สามารถดำเนินการสร้างถนนที่เป็นมาตรฐานพร้อมทั้งไฟฟ้าริมทาง ซึ่งชาวบ้านก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่การถ่ายโอนให้นั้น กรมชลประทานให้เพียงผิวจราจรเท่านั้น ส่วนโครงสร้างไม่ได้ยกหรือถ่ายโอนให้ เวลาที่ทำการขยายทาง ปรับปรุง หรือซ่อมแซม ก็จะต้องทำเรื่องขออนุญาตกรมชลประทานทุกครั้งไป ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้ากับการปัญหาให้ชาวบ้าน ส่วนถนนสายนี้ก็เช่นกัน แขวงทางหลวงชนบท สามารถรับโอนได้ แต่ต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซมให้ดีขึ้นก่อน และหากจะถ่ายโอนให้ ก็จะต้องถ่ายโอนทั้งโครงสร้างถนนด้วย

ด้านนายวีระวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมชลประทานจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า สำนักงานชลประทานได้เขียนโครงการของบประมาณกลางไปจำนวน 17 ล้านบาท เพื่อนำมาปรับปรุงซ่อมแซมถนนระยะทาง 10 กม. แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ส่วนงบซ่อมบำรุงได้รับปีละ 4- 5 แสนบาท และปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้รับงบประมาณจากกรมชลประทานแต่อย่างใด สำหรับเงื่อนไขการถ่ายโอนพื้นที่ให้แขวงทางหลวงชนบท จะได้นำข้อมูลรายงานผู้บริหารระดับกรม เพื่อพิจารณาต่อไป

นายกิตติพันธ์ โรจนชีวะ รอง ผวจ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าว ไม่ได้นิ่งนอนใจ จังหวัดจะช่วยเร่งติดตามงบประมาณจำนวน 17 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบกลาง มาดำเนินการอย่างเร่งด่วน ส่วนปัญหาเฉพาะหน้า ได้ให้ท่องถิ่น คือ อบต.ที่เกี่ยวข้อง ทำหนังสือถึงชลประทานจังหวัด เพื่อขอใช้พื้นที่ในการซ่อมแซม ปรับปรุงบริเวณที่ชำรุดเสียหาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน นอกจากนี้ ยังจะเสนอแผนโครงการไปยัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงมาสำรวจและอาจจะใช้งบประมาณของ อบจ.ฉะเชิงเทรา มาดำเนินการ เพราะเป็นพื้นที่ๆเชื่อมต่อกันระหว่างสองตำบล

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์