ขนส่งปลดล็อกเงื่อนไข รถยนต์บริการ เปิดให้ยื่นขอจดทะเบียนใหม่ได้แล้ว

ราชกิจจานุเบกษา-ประกาศ
อัพเดตล่าสุด 26 ม.ค.2566  เวลา 00.02 น.

ราชกิจจาฯเผยแพร่ระเบียบใหม่กรมการขนส่งทางบก ปลดล็อกเงื่อนไขเดิมจากสถานการณ์โควิด เปิดให้รถยนต์บริการ หรือรถยนต์ป้ายเขียว ยื่นขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์บริการได้ ทั้งบุคคลธรรมดา และบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน เพื่อช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รับการท่องเที่ยวฟื้นตัว มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2566 นี้เป็นต้นไป

วันที่ 25 มกราคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการจดทะเบียนรถยนต์บริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 ลงนามโดยนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก

ระเบียบดังกล่าวระบุว่า ตามที่ได้มีระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการจดทะเบียนรถยนต์บริการ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไว้แล้วนั้น

โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงปี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถยนต์บริการเป็นอย่างมากแทบไม่มีผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทไปเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล

แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้คลี่คลายลง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้รถยนต์บริการเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถนำรถยนต์บริการเดิมที่เปลี่ยนประเภทไปแล้วมาจดทะเบียนเป็นรถยนต์บริการได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขต้องเป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงาน หรือมีอายุการใช้งานไม่เกินสองปีนับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก หรือมีการใช้รถมาแล้วไม่เกินสองหมื่นกิโลเมตร

ฉะนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการรถยนต์บริการจากสถานการณ์ดังกล่าว สมควรเยียวยาให้นำรถยนต์บริการที่เปลี่ยนประเภทไปแล้วในช่วงรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถนำรถดังกล่าวกลับมาจดทะเบียนเป็นรถยนต์บริการได้ และเพื่อให้การจดทะเบียนรถยนต์บริการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สมควรกำหนดให้การจดทะเบียนรถยนต์บริการต้องจดทะเบียนในจังหวัดที่นำรถยนต์บริการไปบริการรับส่งคนโดยสารเท่านั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2525 อธิบดีกรมการขนส่งทางบก จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการจดทะเบียนรถยนต์บริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2566 เป็นต้นไป)

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 ของระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการจดทะเบียนรถยนต์บริการ พ.ศ. 2548 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 5 ผู้ใดประสงค์จะยื่นขอจดทะเบียนรถยนต์บริการ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร หรือนายทะเบียนจังหวัด แล้วแต่กรณี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ “รถยนต์บริการ” กรมการขนส่งทางบกระบุว่า เป็นรถยนต์บรรทุกคนโดยสารหรือให้เช่า ซึ่งบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน ใช้บรรทุกคนโดยสารระหว่างท่าอากาศยาน ท่าเรือเดินทะเล สถานีขนส่ง หรือสถานีรถไฟกับโรงแรมที่พักอาศัย ที่ทำการของผู้โดยสาร หรือที่ทำการของผู้บริการธุรกิจนั้น หรือรถป้ายเขียว หรือรถลิมูซีนป้ายเขียว ที่เราเห็นวิ่งรับส่งผู้โดยสาร-นักท่องเที่ยวระหว่างโรงแรมกับสนามบิน เป็นต้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดระบาดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ และทำให้รถเหล่านี้หันไปจดทะเบียนเป็นรถบุคคลธรรมดา บางส่วนหันไปขับเป็นรถรับจ้างส่วนบุคคลผ่านการเรียกผ่านแอปพลิเคชั่น หรือแกร็บคาร์ เป็นต้น

คลิกอ่านรายละเอียด-ประกาศฉบับเต็มที่นี่

ประเภทรถยนต์บริการ