วันเกษตรแห่งชาติ 2 ก.พ. ต้นทางก่อนมาเป็น งานเกษตรแฟร์

เกษตรกร

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันเกษตรแห่งชาติ” ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มจัดงานตั้งแต่วันที่ 3-4 มกราคม 2491

ทำไมต้องมีวันเกษตรแห่งชาติ

ข้อมูลจาก สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่า ช่วงปี พ.ศ. 2453-2454 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสนับสนุนและเป็นผู้ริเริ่มการจัดงานการแสดงกสิกรรมและพาณิชการ ซึ่งมีการทำโรงนาสาธิตให้ประชาชนดูเป็นตัวอย่าง พร้อมประกวดพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืช ซึ่งในปัจจุบัน คือ “งานเกษตรแห่งชาติ”

ช่วงแรกการจัดงานวันเกษตรจะไม่มีคำว่า “แห่งชาติ” โดยจะเป็นชื่องานว่า “งานวันเกษตร” ต่อมาปรากฏว่างานวันเกษตรได้รับความสนใจจากประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ทำให้การจัดงานได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางจนเกินงบประมาณและกำลังคน ประกอบกับบ้านเมืองประสบปัญหาเศรษฐกิจ จึงเป็นเหตุให้ต้องหยุดการจัดงานไปหลายปี

ต่อมารัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดงานลักษณะนี้ จึงมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานวันเกษตรแห่งชาติขึ้น ตั้งแต่วันที่ 3-4 มกราคม 2491 โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ซึ่งส่วนราชการทั้งสองได้ร่วมกันจัดติดต่อกันเรื่อยมา เป็นประจำทุกปี ณ บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

การจัดงานถือหลักการเดิม คือ การจัดแสดงต่าง ๆ เพื่อให้ประกอบการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และค้าขายให้เจริญทันสมัย และให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งเกษตรกร ได้เรียนรู้พัฒนาการวิชาการใหม่ ๆ และเน้นนโยบายที่จะให้เกษตรทุกภาคได้รับความก้าวหน้า และพัฒนาการวิชาการการเกษตรใหม่ ๆ และเน้นนโยบายที่จะให้เกษตรทุกภาคได้รับทราบความก้าวหน้า และพัฒนาการทางด้านการเกษตรอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ

จุดเริ่มต้นงานเกษตรแฟร์

ขณะเดียวกัน เพื่อให้มีโอกาสพักผ่อนและหาความสำราญในการเที่ยวงาน จึงมีมติเห็นชอบให้จัดงานวันเกษตรแห่งชาติขึ้น ทั้งในส่วนภูมิภาคสลับกับส่วนกลาง โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ ต่อมาการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติได้เริ่มจัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี

งานเกษตรแห่งชาติ เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการจัดตลาดนัด และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป้าหมายของงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก คือ เน้นทางด้านธุรกิจ

ผู้ที่มาเที่ยวงานส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษา และข้าราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และบุคคลภายนอกที่มาเดินเที่ยวชมงาน ส่วนพวกเกษตรกรจะมีแต่พวกที่เป็นแม่ค้าหรือพ่อค้าขนสินค้ามาเพื่อขายเท่านั้นมิได้สนใจใฝ่รู้พัฒนาการใหม่ ๆ ทางด้านการเกษตร และบุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่างเรียกชื่องานนี้ว่า “งานเกษตรแฟร์”