วันทหารผ่านศึก 3 ก.พ. ทำไมใช้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์ ใครคือผู้ริเริ่ม

ทำไมวันทหารผ่านศึกต้องใช้ดอกป๊อปปี้

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันทหารผ่านศึก” โดยมีการประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษาไว้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2491

ทำไมต้องมีวันทหารผ่านศึก

ข้อมูลจาก สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ สงครามมหาเอเซียบูรพา สิ้นสุดลง ทหารไทยจำนวนมากถูกปลดปล่อยจากการเป็นทหาร จึงมีการเรียกร้องให้ทางการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ

ต่อมาในปี 2490 กระทรวงกลาโหมจัดตั้งหน่วยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหาร ที่กลับจากปฏิบัติการรบ และช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบ แต่ก็ยังเป็นหน่วยงานที่ไม่เป็นทางการ

กระทั่งกระทรวงกลาโหมเสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น โดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล และได้มีการประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 จึงได้ยึดเอาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันทหารผ่านศึก

ปี 2510 องค์การทหารผ่านศึกได้ปรับเปลี่ยนฐานะมาเป็นองค์การเพื่อการกุศลของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหม และเงินที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นครั้งคราว

6 ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก

ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก ได้แก่ การให้การสงเคราะห์แก่ทหารที่ผ่านการปฏิบัติการรบ และครอบครัวของทหารที่ปฏิบัติการรบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ

  1. การสงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ เป็นการให้การสงเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่อยู่อาศัย การศึกษา ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านอวัยวะเทียม
  2. การสงเคราะห์ทางด้านอาชีพ โดยการฝึกอบรมและการฝึกอาชีพ ให้ความช่วยเหลือในทางด้านการทำงาน จัดหางานให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  3. การสงเคราะห์ด้านนิคมเกษตรกรรม จัดสรรที่ทำกินในด้านเกษตรกรรมให้ และให้ความช่วยเหลือทางด้านเครื่องมือและวิชาการ
  4. การสงเคราะห์ด้านกองทุน โดยการจัดหาเงินทุนให้สมาชิกขององค์การทหารผ่านศึกได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพ
  5. การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลให้แก่สมาชิก โดยไม่คิดมูลค่า
  6. ให้มีการส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก โดยการขอสิทธิพิเศษในด้านต่าง ๆ ให้แก่ทหารผ่านศึก เช่น การขอลดค่าโดยสาร เป็นต้น

ทำไมใช้ “ดอกป๊อปปี้” เป็นสัญลักษณ์

ดอกป๊อปปี้สีแดง ถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์แทน ทหารผ่านศึก ผู้พิทักษ์รักษาประเทศชาติให้มีเอกราชอธิปไตย เนื่องจากสีแดงของดอกป๊อปปี้สื่อถึงเลือดของทหารหาญที่ได้หลั่งชโลมแผ่นดินไว้ด้วยความกล้าหาญ เสียสละอันสูงสุด

ดังนั้นวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงเป็นวันที่เราทั้งหลายจะได้เห็นดอกป๊อปปี้บานสะพรั่งไปทั่วราชอาณาจักร

ผู้ริเริ่มให้ใช้ “ดอกป๊อปปี้” คือใคร

สำหรับประเทศไทย การจัดทำดอกป๊อปปี้เพื่อจำหน่ายในวันทหารผ่านศึก เกิดจากริเริ่มของ “ท่านผู้หญิง จงกล กิตติขจร” ประธานสโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก หรือมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในปัจจุบัน ที่ต้องการจะดำเนินการหาทุนมาช่วยเหลือทหาร และครอบครัวทหารผ่านศึก ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศจึงได้เลือกเอาดอกป๊อปปี้สีแดง

โดยมีประวัติเกี่ยวโยงถึงสมรภูมิฟลานเดอร์ส สมรภูมิเบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ระหว่างสัมพันธมิตร และเยอรมนี ในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยสงครามในครั้งนั้นทหารพันธมิตรได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสมรภูมินี้มากที่สุด

“จอมพลเอิร์ล ออฟ เฮก” ผู้บัญชาการรบ เห็นว่บริเวณหลุมฝังศพทหาร มีดอกป๊อปปี้ป่าขึ้นอยู่ทั่วไป ทำให้เกิดเป็นลานสีแดงฉานสวยงาม ตั้งแต่นั้นมาดอกป๊อปปี้จึงกลายเป็นดอกไม้อนุสรณ์แห่งวีรกรรมของทหารผ่านศึก เตือนใจให้ระลึกถึงเลือดสีแดงของทหารที่ได้เสียสละเพื่อประเทศชาติ

ฉะนั้น เพื่อระลึกถึงเกียรติภูมิของนักรบกล้าหาญ จึงได้กำหนดให้ดอกป๊อปปี้เป็นดอกไม้ที่ระลึกสำหรับทหารผ่านศึกไทยเช่นเดียวกับในต่างประเทศ และมีการจำหน่ายในวันที่ระลึกทหารผ่านศึก ตั้งแต่ปี 2511 เป็นต้นมา

คุณหญิงแสงเดือนเข้าพบประยุทธ์

เมื่อเวลา 08.30 น. วานนี้ (2 ก.พ.) คุณหญิงแสงเดือน ณ นคร ประธานกรรมการมูลนิธิ และประธานกรรมการจัดจำหน่ายดอกไม้ มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

เพื่อมอบดอกไม้ที่ระลึกวันทหารผ่านศึก (ดอกป๊อปปี้) และเพื่อประชาสัมพันธ์การจัดจำหน่ายดอกไม้ที่ระลึกวันทหารผ่านศึก (ดอกป๊อปปี้) เพื่อนำรายได้ไปช่วยสงเคราะห์แก่ครอบครัวทหารผ่านศึกซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ