ประเทศไทย เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ 5 มี.ค. 2566

ประเทศไทย ชลบุรี ทะเล หน้าร้อน ฤดูร้อน Summer
Photo by Norbert Braun on Unsplash

กรมอุตุนิยมวิทยา เผยประเทศไทย เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ 5 มีนาคม 2566 สิ้นสุดฤดูร้อน กลางเดือนพฤษภาคม คาดการณ์ไทยตอนบนร้อนสุด 40-43 องศา

วันที่ 3 มีนาคม 2566 น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูหนาวและเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2566 โดยในตอนกลางวันพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนโดยทั่วไปอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป

ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ หรือลมฝ่ายใต้พัดปกคลุมแทน ซึ่งเป็นการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตาม บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนบริเวณยอดภูและยอดดอยรวมทั้งเทือกเขายังคงมีอากาศหนาวเย็นต่อไปอีกระยะหนึ่ง และคาดว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าปี 2565 แต่ยังใกล้เคียงค่าปกติ ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยปีนี้จะใกล้เคียงค่าปกติ

ประเทศไทยตอนบน คาดว่าจะมีอุณหภูมิสูงสุด 40-43 องศาเซลเซียส โดยช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนมีนาคม 2566 ภาคเหนือและภาคอีสานยังมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า และหลายพื้นที่ทั่วไทยตอนบน อากาศร้อนในตอนกลางวัน

จากนั้นจนถึงกลางเดือนเมษายน อากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะ และหลายพื้นที่จะมีอากาศร้อนจัด รวมถึงเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ หลังจากนั้นจะมีอากาศแปรปรวน อากาศร้อนจัดในบางช่วง และเกิดฝนฟ้าคะนอนหลายพื้นที่ ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2566

ส่วนภาคใต้ คาดว่าอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 37-38 องศาเซลเซียส มีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักหลายแห่ง อ่าวไทยและอันดามัน คลื่นสูง 1-2 เมตร จนถึงกลางเดือนเมษายน 2566 จากนั้น ตั้งแต่ปลายเมษายน 2566 เป็นต้นไป จะเกิดฝนเพิ่มขึ้น ฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง ทะเลอันดามัน คลื่นสูง 2-3 เมตร และอาจมีการก่อตัวของพายุไซโคลน