เจาะเบื้องลึกดราม่า #แบนสุพรรณหงส์ พบเคยเกือบใช้เกณฑ์เมื่อปี 62

สุพรรณหงส์

เจาะเบื้องลึกจุดเริ่มต้นกระแสดราม่า #แบนสุพรรณหงส์ 2 พรรคการเมืองรับลูกเสนอนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติเคยเสนอเกณฑ์คล้ายกันเมื่อปี 2562 ก่อนต้องเลื่อน 

วันที่ 31 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โซเชียลมีเดียได้มีกระแสวิพากษ์วิจารย์รางวัลสุพรรณหงส์ผ่าน #แบนสุพรรณหงส์ โดยในทวิตเตอร์มีการใช้แฮชแท็กดังกล่าวรวมกว่า 1.77 แสนครั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” จึงพาสำรวจที่มาของกระแส #แบนสุพรรณหงส์

จุดเริ่มต้นของกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาจากโพสต์ในเฟซบุ๊กของนายศราวุธ แก้วน้ำเย็น ผู้กำกับศิลป์ของภาพยนตร์เรื่อง “เวลา” Anatomy of Time ซึ่งเปิดเผยว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวถูกตัดสิทธิออกจากการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลของกองประกวดภาพยนตร์ระดับชาติกองหนึ่ง เนื่องจากภาพยนตร์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์การเข้าประกวด จากเกณฑ์ซึ่งตั้งใหม่ในปีนี้ว่าภาพยนตรที่จะได้รับการคัดเลือกจะต้องมีการฉายในโรงภาพยนตร์ครบ 5 ภูมิภาค

และได้วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการคัดเลือกของรางวัลดังกล่าวว่า “นี่หรอครับ เพียงแค่เราทำหนังโดยทุนต่ำ และไม่มีปัญญาหาเงินหรือไปขอโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ เข้าฉายให้ครบทุกภาคในประเทศบ้านเกิด แต่เราเข้าฉายไปทั่วโลกและคนในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเรา ก็ให้รางวัลมาหลายที่ ? ผิดด้วยหรอที่เราฉายไม่ครบทุกภาค? แต่เราก็ฉายในสตรีมมิ่งอันดับต้นของโลก ? ผิดด้วยหรอที่เราถูกโรงหนังขนาดใหญ่ของประเทศตัดรอบฉาย?

แต่ท้ายที่สุดรางวัลหรือยอดขายมันอาจมีไว้ตีค่าทางสังคมได้ดีที่สุด แต่มันไม่สามารถเลยครับที่จะหยุดจินตนาการ มันไม่สามารถเลยครับที่จะหยุดค่าของภาพยนตร์ (ผมอาจไม่ใช่นักกีฬา จึงไม่สามารถ เรียกตัวเองว่านักกีฬาทีมชาติ แต่ผมตั้งใจและทำหนังไทยแบบต่อเนื่องในทุกค่ายทุกรูปแบบทั้งในกระแส หรือ นอกกระแส ผมมั่นใจและกล้าที่จะบอกกับคนทั้งโลก ว่า ผมคือทีมชาติหนังไทยอีกคน อดก็ทำมีก็ลุย)”

โดยโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวดีการแชร์มากกว่า 1.6 พันครั้ง และนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย

วงการภาพยนตร์แห่ถอนตัวเข้าชิงรางวัล

ภายหลังโพสต์ดังกล่าวของนายศราวุธ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่บรรดาบุคลากรในวงการภาพยนตร์ได้ขอถอนตัวออกจากการเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์ดังกล่าว อาทิ ณฐพล บุญประกอบ ทีมเขียนและผู้กำกับร่วมภาพยนต์เรื่อง One for the Road วันสุดท้าย…ก่อนบายเธอ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนต์เรื่อง Fast & Feel Love และนายอิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมีและนายณัฏฐ์ กิจจริต นักแสดงนำภาพยนต์เรื่อง 4 Kings ที่ประกาศพร้อมให้ริบรางวัลสุพรรณหงส์ที่ได้รับมา เป็นต้น

โดยความคิดเห็นส่วนใหญ่ของบุคลากรในวงการภาพยนตร์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์ในการประกวดดังกล่าว

เพื่อไทย-ก้าวไกล รับลูกชูนโยบายพรรค

นอกจากกระแสจากในวงการภาพยนตร์เองแล้ว ยังมีกระแสจากผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ที่ได้ให้ความเห็นว่าจะต้องมีการออกแบบหน่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเพื่อให้สนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียม

ด้านพรรคก้าวไกล ได้มีความเห็นจากนายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ให้ข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ ทลายการผูกขาดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์, ตั้งกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และแก้ไขกฎหมายการเซ็นเซอร์

ประวัติรางวัลสุพรรณหงส์

จัดพิธีประกาศผล “รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ” ครั้งที่ 1 สำหรับการตัดสินรางวัลภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2521 และ 2522 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2522 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร และจัดต่อมาอีก 6 ครั้ง จนถึงครั้งที่ 7 ในปี 2531 จึงว่างเว้นการจัดรางวัลไป 3 ปีจึงได้กลับมาจัดใหม่อีกครั้ง ภายใต้ชื่อ “รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ” โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย (หน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี) และกรมประชาสัมพันธ์ ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้การสนับสนุนวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
ตัวรางวัลเป็นสัญลักษณ์ “ทางช้างเผือกสู่ดวงดาว” ซึ่งหมายถึงบุคคลที่สร้างผลงานภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม และชนะเลิศในแต่ละประเภทรางวัล จนเป็นดาวดวงเด่นของปีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และพระราชทานรางวัลในพิธีประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติครั้งแรก ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 25 มกราคม 2535
รางวัลสัญลักษณ์ทางช้างเผือกสู่ดวงดาว ถูกใช้จนกระทั่งในการประกาศผลรางวัลสำหรับผลงานภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2542 และเปลี่ยนเป็นรางวัลสุพรรณหงส์ โดยสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ในวาระการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 44 พ.ศ. 2542 ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” กลายเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทั้งรางวัลสัญลักษณ์ทางช้างเผือกสู่ดวงดาว จากงานประกวดภาพยนตร์แห่งชาติประจำปี 2542 และรางวัลสุพรรณหงส์ จากงานมหกรรมภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก
ในปี พ.ศ. 2544 สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ไม่ได้จัดงานประกวดรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ เนื่องจากภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี 2543 มีจำนวนค่อนข้างน้อย สมาคมสมาพันธ์ฯ จึงจัดเพียงงานมอบรางวัลพิเศษ ในวันที่ 4 เมษายน 2544 งานประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 สำหรับผลงานภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี 2543 และ 2544 รวมกัน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545 นับเป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่องานว่า “การประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์” ซึ่งกลายเป็นชื่อที่ใช้ต่อมาจนปัจจุบัน
ในปี 2562 ได้มีรายงานข่าวว่า สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติจะปรับเกณฑ์ภาพยนตร์ไทยที่เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ใหม่ โดยภาพยนตร์ที่จะได้รับการพิจารณาจะต้องเข้าฉายใน 5 จังหวัดใหญ่ คือ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ชลบุรี, นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช รวมถึงจะต้องมีผู้เข้าชมภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน ก่อนท้ายที่สุดได้มีการเลื่อนการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวออกไป

โดยปัจจุบันสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติได้มีสมาคมสมาชิกจำนวน 20 สมาคม ได้แก่

  1. สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์
  2. สมาคมผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์
  3. สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
  4. สมาคมผู้บริหารการผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ
  5. สมาคมทีมงานสร้างภาพยนตร์
  6. สมาคมดารานักแสดงภาพยนตร์
  7. สมาคมศิลปินตลก (ประเทศไทย)
  8. สมาคมนักพากย์ภาพยนตร์
  9. สมาคมเทคนิคไทยแลปฟิล์มภาพยนตร์
  10. สมาคมผู้ประกอบการแอนนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย
  11. สมาคมภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา
  12. สมาคมจัดจำหน่ายภาพยนตร์
  13. สมาคมผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวีดิทัศน์
  14. สมาคมไทยธุรกิจอิเล็คโทรนิคบันเทิง
  15. สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงไทย
  16. สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  17. สมาคมอุตสาหกรรมเพลงไทย
  18. สมาคมนักข่าวบันเทิง
  19. สมาคมนักวิชาการด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์
  20. สมาคมเกมและสื่อดิจิตอลบันเทิง