ตูน ปรินดา ถูกแฮกบัตรเครดิต รูดซื้อเกมออนไลน์ รวมเกือบ 5 แสน

ตูน ปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ถูกแฮกบัตรเครดิต
ภาพจาก ข่าวสด

“ตูน ปรินดา” ผู้ประกาศข่าว เรื่องเด่นเย็นนี้ เข้าพบ สอท. แจ้งความถูกแฮกข้อมูลบัตรเครติด นำไปซื้อของออนไลน์ รวมกว่า 5 แสนบาท

วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ข่าวสด รายงานว่า ที่กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี1 (บก.สอท.1) ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ ตูน น.ส.ปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ผู้ประกาศข่าว รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ทางช่อง 3 เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 ให้ดำเนินคดีกับคนร้าย หลังถูกแฮกบัตรเครดิตนำไปใช้เกือบ 5 แสนบาท

น.ส.ปรินดา กล่าวว่า ตนใช้บัตรเครดิตโดยจะตั้งให้มี SMS เตือนเวลามียอดการใช้จ่ายในวงเงินตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ที่ผ่านมาก็มี SMS เตือนทุกครั้ง ทำให้วางใจกับระบบที่แจ้งเตือนใช้จ่ายแต่ละครั้ง

กระทั่งคืนวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา มีข้อความแจ้งเข้ามาว่า มียอดรายการใช้จ่ายจำนวน 24,000 บาท พยายามจะตัดยอดในบัตรเครดิต แต่วงเงินเต็ม จึงดำเนินการไม่สำเร็จ จึงรู้ว่าเริ่มมีอะไรที่ผิดปกติ เพราะตอนนั้นคิดว่าวงเงินไม่น่าจะเต็ม เพราะตัวเองไม่น่าจะใช้เงินเยอะขนาดนั้น

พอลิงก์เข้าในระบบแอพพบว่ามีการตัดยอดบัตรเครดิต สลับกับยอดที่ตนใช้หลายรายการ เช่น เวลาไปใช้บัตรที่ไหน ก็จะมียอดที่เราใช้แจ้งเตือน แต่กลับมายอดที่ตนไม่ได้ใช้แต่ถูกหักออกไปจากบัตรด้วย แต่ไม่แจ้งเตือน

น.ส.ปรินดา กล่าวต่อว่า ล่าสุดในวันที่ 10 ก.ค.ใช้บัตรรูดจ่ายค่าอาหารจำนวน 1,800 บาท และจะเช็คทุกครั้งเวลามีข้อความส่งการตัดยอดบัตร ถ้าตรงกับยอดที่เราจ่ายก็จะเซ็น แต่ปัญหาคือหลังยอดที่เราจ่ายไป ก็จะมียอดตัดออกไปอีกหลายครั้ง และจะเป็นแบบนี้ทุกครั้งแต่ไม่แจ้งเตือน

มีแต่ยอด 24,000 บาท ที่มิจฉาชีพพยายามจะตัดบัตร ซึ่งวงเงินเต็ม 5 แสน ซึ่งเท่าที่ทราบมีการตัดยอดตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค.66 รวมกว่า 50 รายการ รวมเป็นเงินเกือบ 5 แสนบาท

ด้าน พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ เปิดเผยว่า สำหรับเคสนี้เป็นเคสที่น่าสนใจคือ ขณะที่ผู้เสียหายใช้บัตรทำรายการจะมีข้อความแจ้งเตือนแต่ในขณะที่มิจฉาชีพใช้แฮกข้อมูลบัตรไปใช้จะไม่มีการส่งข้อความแจ้งเตือนในการทำรายการในแต่ละครั้งที่ใช้

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า แต่ละครั้งที่มิจฉาชีพแฮกการใช้บัตรเครดิตนำไปซื้อเกมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม สั่งการให้ทางชุดสืบสวนนำเครื่องมือวิเคราะห์พิเศษมาใช้ ซึ่งเคสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในคดีภัยออนไลน์ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดตอนที่ผู้เสียหายใช้บัตร จะมีข้อความการใช้แจ้งให้ทราบ แต่เวลามิจฉาชีพใช้เหตุใดจึงไม่มีข้อความแจ้งให้ทราบ

ซึ่งจะประสานข้อมูลจากธนาคาร เพื่อรวมรวบพยานหลักฐานในการติดตามคนร้าย โดยในการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด “พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และ ป.อาญา เรื่องการใช้บัตรเครดิตผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา น.ส.ปรินดา ได้เปิดใจเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” โดยระบุว่า ทันทีที่รู้ว่าถูกแฮกบัตรเครดิต และมียอดใช้จ่ายปริศนาเกิดขึ้น ทำให้รู้สึกตัวชา และพยายามตั้งสติเพื่อจัดการเรื่องนี้ผ่านการติดต่อธนาคารให้เร็วที่สุด และชื่นชมทางธนาคารของบัตรเครดิตที่เกิดปัญหาว่าสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว