ย้อนมองเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีเพื่อ “คนยากไร้” หรือให้ “ทั่วถึงเป็นธรรม”

แก้ระเบียบจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ย้อนมองถ้อยความ “มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ?

การเปลี่ยนแปลงระเบียบจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับล่าสุด ที่กำหนดเงื่อนไขผู้มีสิทธิว่าต้อง “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” สร้างคำถามแก่ประชาชนจำนวนมากว่าทำไม “เบี้ยยังชีพ” ที่ควรเป็น “สวัสดิการสำหรับทุกคน” ยังต้อง “พิสูจน์ความจน” ว่าตนไม่มีรายได้เพียงพอ และจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัดว่า “รายได้ที่เพียงพอ” คือเท่าไหร่

ล่าสุด วิโรจน์ ลักขณาอดิสร สส.ก้าวไกล ออกมาระบุว่า อาจมีการใช้ฐานข้อมูล “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน” เพื่อยืนยันว่า “รายได้ไม่เพียงพอ” หรือ “จนจริง” ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น จะทำให้ผู้สูงอายุ 6 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลได้รับผลกระทบไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเนื้อหาเกี่ยวกับการให้รัฐช่วยเหลือ “ผู้ไม่มีรายได้” หรือ “มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” นั้น ในระเบียบการจ่ายเบี้ยดังกล่าว เป็นถ้อยความที่คล้ายคลึงกับที่ระบุไว้ใน “รัฐธรรมนูญ” มาตั้งแต่ ฉบับ 2540-ปัจจุบัน

ไขปม ระเบียบจ่ายเบี้ยยังชีพฯ แบบเก่า-ใหม่ ต่างกันอย่างไร

การออกประกาศระเบียบกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ 12 สิงหาคม 2566 มีจุดที่สำคัญและสร้างคำถามคาใจประชาชน อยู่ 2 ประการ คือ เรื่องคุณสมบัติ และเรื่องการระงับสิทธิและการเรียกเงินคืน สำหรับผู้สูงอายุรายใหม่หลัง 12 ส.ค. 2566

เรื่องแรกคุณสมบัติ

ในหมวดที่ 1 ข้อ 6 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ 4 ข้อ

(1) มีสัญชาติไทย

(2) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(3) มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(4) เป็นผู้ “ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

ซึ่งคุณสมบัติ ข้อ (4) เป็นการแก้ไขจากคุณสมบัติเดิมที่ระบุว่า

“ต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ (ก) ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน (ข) ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ค) ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ”

ข้อความส่วนใน หมวด 1 ข้อ 6 (4) นี้ เป็นคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพที่ใช้มายาวนานตั้งแต่ครั้งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังเป็นผู้ออกหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพฯ และเพิ่งเปลี่ยนเป็น “ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” ในหลักเกณฑ์ล่าสุด

เรื่องที่สอง เรื่องการระงับสิทธิและการเรียกเงินคืน สำหรับผู้สูงอายุรายใหม่หลัง 12 ส.ค. 2566

สืบเนื่องจากปัญหาในเชิงการปฏิบัติงานในหลักเกณฑ์เดิม คือ คุณสมบัติข้อ (4) ผู้สูงอายุหลายคนมีความสับสนเกี่ยวกับกับช่วยเหลือจากรัฐ เช่น อาจมีการรับเงินสงเคราะห์อื่นจากบุตรหลานที่เสียชีวิตในสงคราม/การปฏิบัติหน้าที่ แล้วมีการจ่ายเงินสงเคราะห์มาอยู่แล้ว หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับเงินบำนาญ แต่เห็นเพื่อนที่รับเงินบำเหน็จแต่สามารถรับเบี้ยยังชีพได้ จึงมาขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ เป็นต้น กรณีเหล่านี้หากไม่มีการตรวจสอบตั้งแต่แรกหรือตรวจสอบไม่ทั่วถึง แล้วภายหลังเมื่อมีการทักท้วง พบก็จะมีการเรียกเงินคืน

ดังนั้น เมื่อมีการแก้ไขคุณสมบัติให้ต้องเป็น “ผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” ตามเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเกณฑ์ว่า “รายได้ที่ไม่เพียงพอ” คือเท่าใด แต่หากมีการกำหนดขึ้นมา ทุกคนที่จะขอรับเบี้ยยังชีพต้องเทียบเกณฑ์รายได้ดังกล่าว และหากไม่ผ่านเกณฑ์จะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

หากได้รับเงินเบี้ยยังชีพมาแล้วโดยสุจริต คือ อาจมีการตรวจสอบภายหลังและอาจพบว่ารายได้เปลี่ยนแปลง หรืออื่น ๆ ที่ทำให้ขาดคุณสมบัติ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำเพียงแค่ระงับสิทธิ แต่ยกเว้นไม่ต้องเรียกเงินคืน ต่างจากกรณีคุณสมบัติข้อ 6 (4) เดิมที่หากมีการตรวจพบต้องเรียกเงินคืนด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้จะไม่นำไปพิจารณาเพื่อระงับสิทธิคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพย้อนหลัง คนที่ได้รับเบี้ยก่อนวันที่ 12 ส.ค. 2566 จะได้ตามเดิม แต่จะส่งผลถึง “รายใหม่” หรือผู้ที่อายุ 59 ย่างเข้า 60 ที่จะต้องขึ้นทะเบียนเบี้ยเพื่อรับเบี้ยสูงอายุในปีงบประมาณถัดไป

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ “ผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” ยังไม่ถูกกำหนดขึ้นมา จึงมีการระบุในบทเฉพาะกาลข้อ 18 ว่า หากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังมิได้กำหนดคุณสมบัติตามข้อ 6 (4) ให้ใช้ระเบียบเดิม คือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ไปพลางก่อน

ดังนั้น ณ ขณะนี้ระเบียบเกี่ยวกับคุณสมบัติยังใช้เหมือนเดิม จนกว่าจะระบุว่า ไผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” คืออะไร

“ยากไร้ หรือทั่วถึงเป็นธรรม” ข้อขัดแย้งเชิงหลักการ กม.ผู้สูงอายุ กับ รัฐธรรมนูญ

ดังที่กล่าวไว้ว่า ถ้อยความ “ผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” ที่ระบุในคุณสมบัติ ตามข้อ 6 (4) ที่แก้ไขใหม่นั้น เป็นถ้อยความที่อยู่ในการให้การรับรอง “สิทธิของประชาชน” ในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 49 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ความว่า

“บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิ ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”

รัฐธรรมนูญ 2540-2550 เริ่มต้นการใช้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ และการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ

การระบุสิทธิของ “ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี” เริ่มเห็นชัดใน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 54 ระบุว่า

“บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

และมาตรา 80 “รัฐต้องสงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งพาตนเองได้”

โดยความดังนี้ก่อให้เกิดการร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ฉบับแรกในปี 2546 ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และมีการเริ่มจัดหาแหล่งเงินเพื่อจ่ายเบี้ยยังชีพ และมีการให้สิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ แก่ผู้สูงอายุ 13 ข้อ ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ โดยการให้เบี้ยยังชีพเป็นข้อที่ 11 และเลือกใช้คำว่า “ผู้สูงอายุ” แทนคำว่า “คนชรา” (ในทางการแพทย์ถือว่าความชราภาพอาจเกิดขึ้นในบุคคลที่มีอายุน้อยหรือบุคคลที่มีอายุยังไม่ถึงหกสิบปีก็ได้)

หลังจากนั้นในปี 2545-2549 มีการให้เบี้ยยังชีพฯ ในชื่อเรียกขานว่า “เงินสงเคราะห์คนชรา” หรือเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพ 200 บาท เป็น 500 บาทต่อเดือน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ และหากองค์กรปกครองท้องถิ่นใดมีศักยภาพหรือมีเงินในคลังสามารถพิจารณาให้เงินเพิ่มได้ไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งมีการบังคับใช้ระบบยืนยันสิทธิแทนการลงทะเบียน และยกเลิกเกณฑ์รายได้ในปี 2552

เมื่อเข้าสู่ช่วงรัฐธรรมนูญ 2550 มีการระบุให้ หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 53 บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และ “ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ” มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอํานวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

และในปี 2553 จึงมีการอาศัยความตามมาตราดังกล่าวของ รธน. 2550 มาแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2553 โดยมีการเพิ่ม มาตรา 11 (11) เป็น “การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม”

ต่อมาในปี 2554-2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการปรับแก้ให้การจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นแบบขั้นบันได คือ อายุ 60 ปี ได้ 600 บาท, 70 ปี ได้ 700 บาท, 80 ปีได้ 800 บาท และอายุ 90 ปี ได้ 1,000 บาทต่อเดือน

จุดขัดแย้ง

จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ระบุใจความคล้ายกัน คือ ผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐมักต้องเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี “และ” ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐที่เหมาะสมจากรัฐ ขณะที่ รธน. 2550 เพิ่มด้วยว่าผู้อายุเกินหกสิบปี ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับ “สวัสดิการ”

ในขณะที่ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม 2553 ที่ระบุว่า การจ่ายเบี้ยยังชีพต้อง “ทั่วถึงและเป็นธรรม” ซึ่งเป็นหลักการในการจ่ายเบี้ยยังชีพมาตลอดเวลาสิบกว่าปี

หลักการจ่ายเบี้ยให้ “ทั่วถึงและเป็นธรรม” จึงดูขัดกับการที่รัฐพึงให้ช่วยเหลือเฉพาะ “ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอ” หรือผู้ยากไร้ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับดังกล่าว และยังกล่าวได้ว่าคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพตามข้อ 6 (4) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศไปล่าสุดค่อนข้างสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และหลักการตามรัฐธรรมนูญควรจะใหญ่กว่ากฎหมายชั้น พ.ร.บ.หรือไม่ในกรณีนี้

ดังนั้น หากจะเริ่มถกเถียงกันเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น “สวัสดิการถ้วนหน้า” หรือไม่ อาจต้องเริ่มวางกันก่อนว่า “หลักการ” ที่ควรใช้คืออะไร หรือปัญหาเรื่อง “หลักการ” ของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องจบที่การระบุในรัฐธรรมนูญ ว่าจะใช้หลักสงเคราะห์ผู้ยากไร้ หรือหลักทั่วถึงและเป็นธรรมกันแน่ ?

ย้อนมองเบี้ยยังชีพ “สงเคราะห์” หรือ “รัฐสวัสดิการ”

สำหรับประเทศไทย แม้ในทางวัฒนธรรมเรามักจะเรียกคนที่ชรา หรือผู้อาวุโสที่มีบทบาทเป็นปู่ย่าตายาย ที่อายุอาจยังไม่ถึง 60 ปีว่า “ผู้เฒ่าผู้แก่” แล้ว แต่ในทางกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระบุกลุ่มประชากรเหล่านี้ให้แน่ชัดเพื่อที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการในรูปแบบของรัฐสมัยใหม่

สังคมไทยได้ปรากฏวัยสูงอายุหรือ “วัยเกษียณ” ขึ้นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามพระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญทหารและข้าราชการพลเรือน ฉบับแรก ระบุว่าให้ข้าราชการได้รับเบี้ยบำนาญหลังจากเกษียณอายุที่ 55 ปี พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับการแก้ไขเมื่อปี พ.ศ. 2482 กำหนดว่า ข้าราชการพลเรือนและทหารเกษียณอายุ เมื่อมีอายุครบ 55 ปี แต่สามารถต่ออายุการทำงานได้คราวละหนึ่งปี และไม่เกินอายุ 60 ปี ขณะที่คนในอาชีพอื่น ๆ ยังไม่มีกำหนดอายุที่ต้องหยุดทำงาน ซึ่งขณะนั้นประชากรสูงอายุในประเทศยังไม่มากนักและการทำสำมะโนประชากรที่มีประสิทธิภาพ

จากนั้นมีการพยายามจัดทำ “ยอดบัญชีพลเมือง” โดยการจัดตั้งกรมสถิติพยากรณ์ (กลายเป็น “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ในเวลาต่อมา) และได้สำรวจประชากรอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีพระราชบัญญัติควบคุมขอทาน พ.ศ. 2484 เพื่อดูแลสงเคราะห์กลุ่มคนยากไร้ คนเร่ร่อนไร้ที่อยู่ และเพื่อรักษาความสงบภายในประเทศ คนเหล่านี้จะได้ไม่ต้องเป็นคนเร่ร่อนทำความเดือดร้อนรำคาญแก่คนอื่น ตลอดจนเผยแพร่แนวคิดรัฐนิยมว่า “การช่วยเหลือ หรือให้เกียรติยสแก่สตรีเพส หรือคนป่วย คนชรา ตามสมควน เป็นหน้าที่ของคนไทย ผู้มีวัธนธัม” จะเห็นได้ว่า “คนชรา” จัดอยู่ในผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ

ต่อมารัฐบาลก็สร้างสถานสงเคราะห์คนชราแห่งแรกที่บ้านบางแค กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2496 โดยให้กรมประชาสงเคราะห์ดูแลตามนโยบายการจัดสวัสดิการสังคม ช่วยเหลือ สงเคราะห์ขอทานและคนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ฐานะยากจน ไร้ที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ โดยจัดที่พัก อาหารและให้การรักษาพยาบาล และรับได้ตั้งสถานสงเคราะห์คนชราในส่วนภูมิภาคอื่น ๆ

ในช่วงปี 2500 เข้าสู่กระบวนการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ทำให้มีการสำรวจสำมะโนประชากรทุกรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม การสำรวจประชากรสูงอายุโดยเฉพาะนั้น เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2537, 2545, 2550, 2554 และ 2557 ตามลำดับ แสดงให้เห็นชัดว่า ภาครัฐไม่ได้เจาะจงสำรวจประชากรผู้สูงอายุ เพื่อสร้างระบบสวัสดิการมารองรับกลุ่มคนเหล่านี้แต่เเรก หากแต่บทบาทสวัสดิการของรัฐนั้นขึ้นตรงกับ “กรมประชาสงเคราะห์” ซึ่งทำหน้าที่สงเคราะห์ผู้ยากไร้

ดังนั้น ข้อกฎหมายที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่สมัยใหม่ ผู้ได้รับ “สวัสดิการ” คือข้าราชการและทหาร ตาม พ.ร.บ.เบี้ยบำนาญฯ เท่านั้น ขณะที่ผู้สูงอายุอื่นที่ได้รับสวัสดิการคือ “ผู้ยากไร้” ดังนั้นแนวคิดในการมองผู้สูงอายุของไทยในยุคแรกเริ่มก็มองว่า ผู้สูงอายุเป็นพวกที่ต้องได้รับการ “พึ่งพิง” หากขาดแคลนก็จะต้องให้การ “สงเคราะห์”

หลังจากประเทศไทยเข้าร่วม “สมัชชาว่าด้วยผู้สูงอายุ” ที่จัดโดยสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2525 ก็เริ่มมีการพิจารณาเพื่อเตรียมรับมือกับสังคมสูงอายุ และได้จัดทำแผนพัฒนาฯ ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2525-2544)” และเป็นหมุดหมายในการปฏิบัติการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในไทยนับแต่นั้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดูแลรักษาสุขภาพหรือด้านสาธารณสุข จนในปี 2534 ได้มีการออกบัตรประจำตัวผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ในปี 2535 เริ่มพิจารณานโยบายช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากจน กระทั่ง พ.ศ. 2536 รัฐบาลจึงออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากจนในโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยคัดเลือกผู้สูงอายุที่ยากจนหมู่บ้านละ 3-5 คน และจ่ายเบี้ยยังชีพคนละ 200 บาทต่อเดือน ดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์

เมื่อมีการเริ่มต้นแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ในปี พ.ศ. 2545 เริ่มถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (จากเดิมกรมประชาสงเคราะห์ดูแล) ให้พิจารณาประชากรสูงวัยในเขตพื้นที่ตนที่เข้าข่ายไม่มีหลักประกันรายได้ “ทุกคน” จากเดิมที่มุ่งเน้นการสงเคราะห์ผู้ยากไร้เท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 จึงให้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแก่ประชากรสูงวัย “ทุกคน” ในเขตพื้นที่ ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออื่น ๆ จากรัฐอยู่แล้ว เป็นเดือนละ 500 บาท

ในปี พ.ศ. 2554 เพิ่มแบบอัตราขั้นบันได คือ อายุ 60-69 ปี เดือนละ 600 บาท อายุ 70-79 ปี เดือนละ 700 บาท 80-89 ปี เดือนละ 800 บาท 90 ปีขึ้นไป เดือนละ 1,000 บาท การดำเนินการขึ้นทะเบียนและแจกจ่ายนี้ให้เป็นไปด้วยการบริหารท้องถิ่นเอง ส่วนงบประมาณนั้นเป็นงบประมาณอุดหนุนจากส่วนกลางจ่ายผ่านสภาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ โดยมีสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นผู้ให้การรับรอง

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2561-2562 เริ่มมีการปรับปรุงการดำเนินงานโดยกรมบัญชีกลางจะสั่งจ่ายโดยตรงเข้าบัญชีผู้สูงอายุ

ล่าสุด ปี 2566 มีการออกระเบียบคุณสมบัติใหม่ที่ต้องให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงทำให้ผู้คนตั้งคำถามว่า ระบบเบี้ยยังชีพจะวนกลับไปที่การ “สงเคราะห์” คนชราเช่นในอดีตหรือไม่อย่างไร ?