เปิดประวัติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล แคนดิเดต ผบ.ตร. คนที่ 14

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

รู้จัก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล จากพนักงานบริษัทน้ำมัน สู่ แคนดิเดต ผบ.ตร. คนที่ 14

วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกข้าราชการตำรวจ (บอร์ดกลั่นกรอง) ให้ดำรงตำแหน่งระดับ รอง ผบ.ตร. ถึง ผู้บังคับการ (ผบก.) วาระประจำปี 2566 ซึ่งมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และประธานกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการระดับตำรวจ ตร.เป็นประธานที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นมา

ทั้งนี้ การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. แทน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะเป็นผู้เสนอชื่อในที่ประชุม ก.ตร. โดยคาดการณ์ว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.เตรียมขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.

ประวัติ

พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2507 ที่จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันอายุ 59 ปี สมรสกับ นิภาพรรณ มีบุตรสาว 2 คน พี่น้อง 5 คน เป็นบุตรคนสุดท้อง น้องชายของ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง บิดาคือ นายนิพนธ์ และนางสมนึก สุขวิมล

เขาเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนพันธะศึกษา เขตดุสิต กรุงเทพฯ ก่อนจะไปเรียนต่อชั้นมัธยม ที่โรงเรียนโยธินบูรณะ และเรียนระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นสิงห์แดง รุ่นที่ 38

หลังเรียนจบก็ได้เข้าทำงานเป็นพนักงาน บริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ ทำอยู่ได้ 7 ปี ก็ตัดสินใจลาออก

จากนั้น ได้เข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4

เริ่มต้นชีวิตเป็นตำรวจ ในปี 2540 ดำรงตำแหน่งเป็นรองสารวัตร กองกำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 เป็นเวลา 2 ปี

โดยในปี 2543 ขณะติดยศร้อยตำรวจโท ได้ไปเรียนที่โรงเรียนสืบสวนที่วิทยาลัยการตำรวจ เรียนจบสอบได้ที่ 3 ตามกติกาผู้ที่สอบได้ที่ 1 และ 2 จะไปอยู่กองปราบฯ แต่เนื่องจากเวลานั้นคนที่ได้ที่ 1 อยู่กองปราบฯอยู่แล้ว ขณะที่คนที่ได้ที่ 2 เป็นครูอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรม ไม่มารายงานตัว เขาจึงได้ย้ายจาก 191 มาเป็น รองสารวัตร อยู่ในสังกัดกองปราบปราม เป็นหัวหน้าชุดสืบสวน อยู่งานแผนก 3 กอง 2 รถวิทยุ ใช้ชีวิตเป็นตำรวจอยู่ที่กองปราบฯ นานถึง 17 ปี

ต่อมาได้ขึ้นเป็น สารวัตร ที่กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว อยู่สถานี 3 กองกำกับการ 1 ดูแลรถวิทยุฝั่งธน ต่อมาได้ย้ายจากสายตำรวจท่องเที่ยว มาดำรงตำแหน่ง สารวัตรกองร้อยที่ 3 คุมเรื่องการปราบจลาจล

หลังการเปลี่ยน ผบ.ตร. คนใหม่ ได้รับการสับเปลี่ยนตำแหน่งให้มาคุมรถสายตรวจกองร้อยที่ 5 กระทั่งได้ขึ้นเป็น รองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ

หลังจากเข้าเรียนโรงเรียนผู้กำกับฯ เป็น รองผู้กำกับฯ ก็ได้รักษาการผู้กำกับฯกองปฏิบัติการพิเศษ จนครบวาระของการเป็นผู้กำกับฯ

ตำแหน่ง

  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561-ผู้บังคับการกองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 และกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ตามลำดับ)
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562-รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563-ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564-ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565-รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

เคล็ดลับการทำงาน

พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ เคยกล่าวว่า การบริหารผู้ใต้บังคับบัญชานั้น ก็ได้เอาหลักทฤษฎีที่เรียนปริญญาโทมาปรับใช้ คือ 1.ทฤษฎีภาวะผู้นำ 2.ทฤษฎีแรงจูงใจ 3.ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์

“ต้องคิดเสมอว่า อย่าคิดว่าหลักกูมันจะใช้ได้ มันคือความรู้สึกแค่ตัวเราเพียงคนเดียว แต่หลักวิชาการนั้นได้ทำการวิจัยและการพิสูจน์ทราบแล้ว จึงนำทุกอย่างมาปรับใช้”

“หากเราเป็นผู้นำที่ดี ก็จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาซึมซับพฤติกรรมนั้น นอกจากนี้ ก็ยังทำให้ประชาชนเห็นถึงแง่มุมที่ดีของตำรวจ เสียงตำรวจเสียงเดียวมันไม่ดัง แต่เสียงของพี่น้องประชาชนดังเสมอ”

ทรรศนะต่ออาชีพตำรวจ ของผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นับว่าเปรียบเทียบได้อย่างเห็นภาพ “ตำรวจก็เหมือนผ้าขาว ผ้าดี ในหน้าหนาวก็สามารถเป็นผ้าห่มที่อบอุ่นให้ประชาชนได้ หน้าร้อนก็เหมือนผ้าแพร กันแดดกันฝนให้กับประชาชนได้”

จากพนักงานบริษัทน้ำมัน จนวันนี้มีโอกาสสูงที่จะเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14 ได้