กรมราง เร่ง MRT สายสีน้ำเงินเพิ่มตู้ต่อขบวนรับผู้โดยสารพุ่ง 5 แสนคน

รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน
ภาพจาก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

กรมการขนส่งทางราง ติดตามความคืบหน้ามาตรการเพิ่มขบวน MRT สายสีน้ำเงิน เร่งเพิ่มตู้โดยสารต่อขบวน หลังผู้โดยสารต่อวันเพิ่มขึ้นทะลุ 5 แสนคน/วัน พร้อมเร่งรถไฟฟ้าสายสีม่วง ปรับตารางเดินรถเสริมให้สอดคล้องกัน ลดความแออัดช่วงเช้า

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 มติชน รายงานว่า กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ตรวจวัดความหนาแน่นของปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) เพื่อติดตามผลจากมาตรการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีมาตรการเพิ่มขบวนรถเสริม ในช่วงเร่งด่วนเช้าจาก 11 ขบวน เป็น 14 ขบวน

และปรับเพิ่มความถี่การให้บริการจาก 3.29 นาทีต่อขบวน เหลือเพียง 2 นาทีต่อขบวน ในช่วงระหว่างเวลา 7.30-08.30 น. เพื่อบรรเทาปัญหาความหนาแน่นของผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในช่วงเร่งด่วนเช้า และช่วงเร่งด่วนเย็น เพิ่มจาก 6 ขบวน เป็น 8 ขบวน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

กรมการขนส่งทางราง ได้ตรวจวัดความหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า ตั้งแต่เวลา 7.00-9.00 น. โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำสถานีเพื่อตรวจวัดความหนาแน่นของผู้โดยสารที่สถานีเตาปูน สถานีลาดพร้าว สถานีสุทธิสาร และสถานีห้วยขวาง ซึ่งเป็นสถานีที่มีผู้โดยสารหนาแน่นที่สุด

รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดความหนาแน่นภายในขบวนรถตลอดเส้นทางจากสถานีเตาปูนถึงสถานีสีลม พบว่า BEM ได้จัดรถเสริมที่สถานีจตุจักร สถานีบางซื่อ และสถานีลาดพร้าว

โดยเริ่มให้บริการรถเสริม ตั้งแต่เวลา 07.20 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนที่เดินทางในช่วงหน้าฝน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและจัดระเบียบภายในสถานีและขบวนรถโดยสาร และประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารบริเวณประตูเข้า-ออก เดินเข้าภายในขบวนรถ

ทำให้ผู้โดยสารสามารถเข้าภายในขบวนได้มากขึ้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวช่วยบรรเทาปัญหาผู้โดยสารหนาแน่นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน (07.30-08.30 น.) ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ขร. ให้ รฟม. และ BEM เร่งศึกษาการปรับตารางรถเสริมของรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้สอดคล้องกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่สถานีเตาปูน เพื่อลดความหนาแน่นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้า และเน้นย้ำให้ รฟม. และ BEM พิจารณาการเพิ่มจำนวนตู้โดยสารจาก 3 ตู้ต่อขบวน เป็น 4 ตู้ต่อขบวนอย่างเร่งด่วน และพิจารณาเพิ่มจำนวนขบวนรถที่มีในปัจจุบัน 54 ขบวน ให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสาร

เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารในอนาคต ซึ่งขณะนี้มีจำนวนสูงสุดถึง 5.7 แสนคน/วัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ เนื่องจากการจัดหาตู้โดยสาร/ขบวนรถต้องใช้ระยะเวลาในการจัดหาล่วงหน้าประมาณ 2 ปี

ทั้งนี้ ขร.จะลงพื้นที่ตรวจวัดความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนเย็น (17.00-19.00 น.) ในวันนี้ ที่สถานีสุขุมวิท สถานีเพชรบุรี และสถานีจตุจักร รวมทั้งความหนาแน่นในขบวนรถ เพื่อติดตามผลจากมาตรการของ BEM เช่นเดียวกับในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้าต่อไป

พร้อมนี้ ในส่วนของความหนาแน่นของปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้เร่งรัดให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ปรับปรุงตู้ขนสัมภาระเป็นตู้โดยสาร ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แบบด่วน (Express Line) เพิ่มเติมอีก 1 ขบวน

เพื่อให้สามารถให้บริการผู้โดยสารในระบบบได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะปรับปรุง แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2566 และมอบหมาย่ให้บริษัท พิจารณาการเพิ่มจำนวนรถไฟรองรับผู้โดยสารในอนาคตต่อไป