กรมอุตุฯคาดพายุไต้ฝุ่นเซาลาเข้าจีน 2 ก.ย. เตือนฝนตกหนักถึง 5 ก.ย.

ภาพถ่ายดาวเทียม-ไต้ฝุ่นเซาลา
พายุไต้ฝุ่นเซาลา : (ภาพ กรมอุตุนิยมวิทยา)

กรมอุตุฯคาดพายุไต้ฝุ่น “เซาลา” ขึ้นฝั่งจีน 2 ก.ย.นี้ ชี้ไม่กระทบไทยโดยตรง แต่จะดึงให้ลมมรสุมมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักช่วง 31 ส.ค.-5 ก.ย.นี้ ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ภาคใต้ฝั่งอันดามัน เตรียมรับมือฝนหนัก เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่วนผู้จะเดินทางไปจีนตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทาง

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุก ๆ 24 ชม. นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 31 ส.ค.-9 ก.ย. 66 อัพเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ว่า วันที่ 31 ส.ค.-5 ก.ย. 66 บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักกระจายหลายพื้นที่ เนื่องจากร่องมรสุมจะแรงขึ้นและเลื่อนลงมา พาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคอีสาน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนบน

ประกอบกับมรสุมที่พัดปกคลุมจะมีกำลังแรงขึ้นด้วย จึงทำให้มีฝนกระจายเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เตรียมรับมือฝนหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้บริเวณใกล้แนวร่องมรสุมพาดผ่าน (ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ภาคใต้ฝั่งอันดามันด้านรับมรสุม) ต้องติดตามประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

แผนที่อากาศผิวพื้น ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย โดยมีพายุไต้ฝุ่นเซาลา (Saola) ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน
แผนที่อากาศผิวพื้น : ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทย โดยมีพายุไต้ฝุ่นเซาลา (Saola) ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน

ส่วนวันที่ 6-9 ก.ย. 66 ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ฝนเริ่มน้อยลงบ้าง แต่ยังมีฝนตกต่อเนื่องเกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนล่าง กลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนและด้านรับมรสุม คลื่นลม ยังมีกำลังปานกลางถึงแรง ชาวเรือ ชาวประมงต้องระมัดระวัง น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับพื้นที่ที่ยังมีฝนน้อย เป็นโอกาสที่จะมีฝนเพิ่ม เตรียมรองรับน้ำฝนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ แต่สภาวะฝนปีนี้ยังมีเปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขของปีที่มีปรากฏการณ์เอลนีโญขนาดแรงในขณะนี้

และในขณะนี้ในมหาสมุทรแปซิฟิกมีพายุเกิดขึ้น 3 ลูก แต่ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย เพียงแต่จะช่วยดึงให้มรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น ฝนที่เกิดขึ้นในระยะนี้ จะมาจากมรสุมและร่องมรสุมที่พาดผ่าน (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)

เส้นทางพายุไต้ฝุ่นเซาลา

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 31 ส.ค.-4 ก.ย. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีทะเลคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ในช่วงวันที่ 5-6 ก.ย. ร่องมรสุมกำลังแรงที่พาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง โดยมีทะเลคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “เซาลา” (SAOLA) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 1-3 ก.ย. 66 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง แต่จะช่วยดึงมรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

เส้นทางพายุไต้ฝุ่นเซาลา

ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 31 ส.ค.-6 ก.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกฝั่งในช่วงวันที่ 31 ส.ค.-4 ก.ย. 66 ไว้ด้วย

ส่วนสถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (30-31 ส.ค. 66) : ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 3.9, 4.1, 4.2, 4.0, 3.4, 3.8, 4.0, 3.9 มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

พื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก 31 ส.ค. 2566