เปิดแนวพายุดีเปรสชั่นถล่มไทย กรมอุตุฯเตือน 68 จว. ฝนตกหนัก-น้ำท่วม

แนวพายุดีเปรสชั่นเข้าไทย

กรมอุตุฯออกประกาศฉบับที่ 4 พายุดีเปรสชั่นบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง คาดเข้าไทย 26-29 ก.ย.นี้ เตือน 68 จังหวัด รวม กทม.และปริมณฑล เจอฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และเกิดน้ำท่วมฉับพลัน คาดภาคอีสานโดนหนักสุด ผู้เชี่ยวชาญชี้ความรุนแรงใกล้เคียง “พายุเตี้ยนหมู่” ในปี 2564 ส่งผลน้ำท่วมใหญ่เป็นวงกว้าง คาดยังมีพายุอีกลูกจ่อซ้ำแนวเดิม

วันที่ 25 กันยายน 2566 เมื่อเวลา 17.00 น. นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุดีเปรสชัน ฉบับที่ 4 (251/2566)

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (25 ก.ย. 66) พายุดีเปรสชั่นบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้า ๆ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนามในคืนนี้ (25 ก.ย. 66) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป และจะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. 66

ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย

ประกาศเตือนพายุดีเปรสชั่น ฉบับที่ 4

65-68 จังหวัดเสี่ยงฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่นลูกนี้จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาระหว่างวันที่ 26-29 กันยายนนี้ จะมีทั้งหมดประมาณ 65-68 จังหวัด ซึ่งรวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 26 กันยายน 2566

ภาคเหนือ : จังหวัดลำปาง แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 27 กันยายน 2566

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 28-29 กันยายน 2566

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

สำหรับในช่วงวันที่ 26-29 กันยายน 2566 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ชี้ความรุนแรงใกล้เคียง “พายุเตี้ยนหมู่” ในปี 2564

วันที่ 25 กันยายน 2566 นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAM GROUP ได้ออกมาเตือนว่า จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ก่อตัวในทะเลจีนใต้ เคลื่อนที่เข้ามาทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก 27-28 ก.ย.นี้

โดยหย่อมความกดอากาศต่ำ (ซึ่งจะพัฒนาก่อตัวเป็นพายุดีเปรสชั่นต่อไป) จะมีความรุนแรงใกล้เคียงกับ “พายุเตี้ยนหมู่” ในปี 2564 ที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมในไทยเป็นวงกว้างถึง 14 จังหวัด

ดังนั้นจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งพร่องน้ำออกจากเขื่อนที่มีน้ำมากตามแนวเส้นทางที่พายุลูกใหม่จะเข้าประเทศไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนลำปาว (ปริมาตรน้ำ 2,021 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102%), เขื่อนน้ำอูน (475 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91%), เขื่อนห้วยหลวง (130 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 96%) และหนองหาร ที่มีปริมาตรน้ำมาก

สำหรับเส้นทางของร่องความกดอากาศต่ำที่กำลังจะพัฒนาเป็นพายุนั้น ในวันที่ 25 ก.ย. 66 จะเคลื่อนที่ขึ้นฝั่ง ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในพื้นที่ทางทิศใต้ของเมืองดานัง และพื้นที่ใกล้เคียงของเวียดนาม

จับตาพายุอีกลูก ซ้ำเติมแนวเดิม

วันที่ 26 ก.ย. 66 ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในพื้นที่ตั้งแต่เมืองดานังขึ้นไปจนถึงกรุงฮานอย และในพื้นที่ลาวตอนใต้ ตั้งแต่เมืองจำปาสัก ขึ้นไปถึงเมืองสุวรรณเขต และจะเริ่มมีฝนตกปานกลางถึงตกหนักในจังหวัดอุบลราชธานี มุกดาหาร ตลอดจนภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และภาคตะวันออก

วันที่ 27 ก.ย. 66 จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในพื้นที่อุบลราชธานี และครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานตอนบนและอีสานตอนกลางทั้งหมด รวมถึงจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และภาคตะวันออก

วันที่ 28 ก.ย. 66 ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก และพื้นที่ใกล้เคียง แล้วเคลื่อนที่ออกจากประเทศไทยที่บริเวณใกล้อำเภอแม่สอด

จนถึงช่วงระหว่างวันที่ 28-29 ก.ย. เคลื่อนที่เข้าสู่พม่า จะทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ที่เมืองย่างกุ้ง และนครเนย์ปิดอว์

ช่วงวันที่ 30 ก.ย.-1 ต.ค. จะขึ้นฝั่ง ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ที่เมืองภูวเนศวร และไปถึงกรุงนิวเดลี และพื้นที่ใกล้เคียง แล้วสลายตัวไปในประเทศอินเดีย

นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกลุ่มใหม่ ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ คาดว่าวันที่ 1 ต.ค. จะเคลื่อนที่ขึ้นฝั่ง ทำให้ฝนตกหนักที่เมืองวิน ดองหอย ดองฮา ประเทศเวียดนาม และมีโอกาสจะเข้าถึงประเทศไทย ในแนวเส้นทางที่ซ้ำเติมกับแนวเดิมอีกด้วย

พายุดีเปรสชั่นลุกใหม่เข้าไทย

เตือน 53 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน 26-29 ก.ย.นี้

วันที่ 25 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 248/2566 ลงวันที่ 24 กันยายน 2566 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า

ในช่วงวันที่ 26-29 กันยายน 2566 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนตามแนวร่องมรสุม ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 26-29 กันยายน 2566 ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-กทม.เฝ้าระวังน้ำท่วมขังทุกเขต

–ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง สบเมย) ลำปาง (อ.เมืองฯ วังเหนือ เมืองปาน เถิน) ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง) สุโขทัย (อ.เมืองฯ ทุ่งเสลี่ยม บ้านด่านลานหอย) กำแพงเพชร (อ.เมืองฯ คลองลาน ขาณุวรลักษบุรี) อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา น้ำปาด)

พิษณุโลก (อ.วังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์) เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ วังโป่ง ชนแดน บึงสามพัน วิเชียรบุรี หนองไผ่) นครสวรรค์ (อ.แม่วงก์) และอุทัยธานี (อ.บ้านไร่ ห้วยคต ลานสัก สว่างอารมณ์)

–ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย (อ.เมืองฯ ด่านซ้าย ท่าลี่ นาแห้ว วังสะพุง) หนองคาย (อ.สังคม) บึงกาฬ (อ.เมืองฯ บุ่งคล้า) หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา) อุดรธานี (อ.เมืองฯ ศรีธาตุ เพ็ญ วังสามหมอ กุดจับ พิบูลย์รักษ์ นายูง น้ำโสม) สกลนคร (อ.เมืองฯ ภูพาน สว่างแดนดิน บ้านม่วง) นครพนม (อ.เมืองฯ) ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ หนองบัวระเหว แก้งคร้อ บ้านแท่น ภูเขียว คอนสวรรค์)

ขอนแก่น (อ.เมืองฯ หนองเรือ บ้านฝาง พระยืน มัญจาคีรี ชุมแพ) กาฬสินธุ์ (อ.เมืองฯ ยางตลาด ฆ้องชัย) มุกดาหาร (อ.เมืองฯ ดงหลวง หว้านใหญ่ หนองสูง) มหาสารคาม (อ.เมืองฯ โกสุมพิสัย) ร้อยเอ็ด (อ.เมืองฯ เสลภูมิ จังหาร เชียงขวัญ) ยโสธร (อ.เมืองฯ เลิงนกทา ค้อวัง มหาชนะชัย คำเขื่อนแก้ว ป่าติ้ว) อำนาจเจริญ (อ.เมืองฯ ชานุมาน เสนางคนิคม) นครราชสีมา (อ.เมืองฯ ปากช่อง วังน้ำเขียว)

บุรีรัมย์ (อ.เมืองฯ) สุรินทร์ (อ.เมืองฯ ปราสาท พนมดงรัก) ศรีสะเกษ (อ.เมืองฯ ขุนหาญ) และอุบลราชธานี (อ.เมืองฯ วารินชำราบ นาจะหลวย นาเยีย น้ำขุ่น บุณฑริก น้ำยืน เดชอุดม โขงเจียม ม่วงสามสิบ ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง เขื่องใน)

–ภาคกลาง 15 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท (อ.เมืองฯ) ลพบุรี (อ.เมืองฯ บ้านหมี่) กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี ไทรโยค) สุพรรณบุรี (อ.เมืองฯ ด่านช้าง) ปทุมธานี (อ.ธัญบุรี คลองหลวง) นนทบุรี (อ.เมืองฯปากเกร็ด) สมุทรปราการ (อ.เมืองฯ บางพลี บางบ่อ บางเสาธง)

นครนายก (อ.เมืองฯ ปากพลี) ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี นาดี ประจันตคาม) สระแก้ว (อ.เมืองฯ อรัญประเทศ) ฉะเชิงเทรา (อ.ท่าตะเกียบ) ชลบุรี (อ.เมืองฯ บางละมุง ศรีราชา) ระยอง (อ.เมืองฯ แกลง บ้านค่าย ปลวกแดง) จันทบุรี (ทุกอำเภอ) และตราด (ทุกอำเภอ)

–ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (อ.ท่าชนะ บ้านตาขุน พนม บ้านนาเดิม บ้านนาสาร พระแสง เวียงสระ) นครศรีธรรมราช (อ.นบพิตำ ฉวาง ทุ่งใหญ่) ระนอง (ทุกอำเภอ) พังงา (ทุกอำเภอ) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (ทุกอำเภอ) ตรัง (อ.วังวิเศษ นาโยง ย่านตาขาว) และสตูล (อ.ท่าแพ มะนัง ละงู)

–กรุงเทพมหานคร (ทุกเขต) เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป