จิสด้าจับมือสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดสวนดาวอังคาร หวังให้ ปชช.รู้จักเทคโนโลยีอวกาศเพื่อการอยู่รอดอย่างมีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เปิดงาน “Amazing Mars Garden สวนอัศจรรย์สีสันแห่งดาวอังคาร” มุ่งสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีจากอวกาศและภูมิสารสนเทศให้แก่ประชาชนทุกระดับให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ดร.อำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า Amazing Mars Garden หรือ สวนอัศจรรย์สีสันแห่งดาวอังคาร เป็นความร่วมมือกันทำงานของ 2 หน่วยงานคือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจิสด้า และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือ สวพส. ที่ต้องการจะพัฒนาให้พื้นที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อให้ประชาชนทุกระดับทุกเพศทุกวัยได้มีโอกาสในการเข้าถึงความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างง่ายๆ โดยเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามามีบทบาทกับการดำรงชีวิตของมนุษย์เราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ ให้เข้าใจ และรับรู้ถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี ดังกล่าว

“เราเดินมาถูกทางแล้ว ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆในโลกอนาคต ซึ่ง Amazing Mars Garden หรือ สวนอัศจรรย์สีสันแห่งดาวอังคาร จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญและน่าตื่นเต้นของผู้ที่มีโอกาสได้เข้ามาสัมผัส และเป็นโจทย์ว่าเทคโนโลยีจะช่วยในการอยู่รอดอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ อีกด้วย” ดร.อำพลกล่าว

ทางด้าน นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า สวนแห่งนี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับได้มีโอกาสเข้าถึงและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ แนวคิดในการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อต่อยอดสู่การการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในอนาคต โดยการเชื่อมโยงทรัพยากรกรที่มีอยู่ ตลอดจนในระยะอันใกล้นี้ สถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่จะสร้างและพัฒนา รวมทั้งผลักดันให้ประชากรในพื้นที่สูงสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และเกิดสมดุลในพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานให้นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางต่อไป

Advertisment

“ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้จะเป็นต้นแบบที่สำคัญ เพื่อการขยายผลไปสู่ภูมิภาคอื่นๆทั่วประเทศ” Amazing Mars Garden มีส่วนจัดแสดงประกอบด้วย GARDEN ซึ่งอยู่ด้านนอกตัวอาคาร เป็นโรงเรือนทดลองปลูกพืชบนดาวอังคาร สำหรับภายในตัวอาคารจะแบ่งเป็น 2 ชั้น โดยชั้นที่ 1 จะเป็นพื้นที่ที่จัดแสดงเนื้อหาการบุกตะลุยดาวอังคาร เพื่อค้นหาคำตอบว่า “มนุษย์จะไปอยู่ดาวอังคารได้จริงหรือ” และชั้นที่ 2 จะเป็นพื้นที่ที่จัดแสดงกิจกรรมการสำรวจดาวอังคาร เพื่อการตั้งอาณานิคม โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองและคาดหวังว่าผู้เข้าชมจะเกิดแนวคิด และมุมมองการดำรงชีวิตบนโลก ตลอดจนความสมดุลย์ในการดำรงชีวิตร่วมกับทรัพยากรและบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป” นายอานนท์กล่าว