กรมอุตุฯ เปิดชื่อพายุลูกใหม่ โซนร้อน BOLAVEN ในมหาสมุทรแปซิฟิก

พายุโซนร้อน บอละเวน (BOLAVEN)
พายุโซนร้อน บอละเวน (BOLAVEN) ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา
อัพเดตล่าสุด 8 ตุลาคม 2566 เวลา 17.35 น.

กรมอุตุฯเผยชื่อพายุลูกใหม่ พายุโซนร้อน พายุโซนร้อน บอละเวน (BOLAVEN) ในมหาสมุทรแปซิฟิก คาดทวีกำลังแรงขึ้น แต่ยังอยู่ห่างจากไทยมาก ส่วนฝนตกช่วงนี้เกิดจากร่องมรสุมสวิงขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักบางแห่ง แย้มตอนบนเริ่มมีลมหนาวบ้างแล้ว เผยมีแผ่นดินไหวที่หมู่เกาะนิโคบาร์  อินเดีย ขนาด 4.3 ห่างจากพังงา 458 กิโลเมตร

วันที่ 8 ตุลาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.(นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) 10 วันล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 8- 17 ต.ค.66 อัพเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF)ว่า ช่วง 8 -9 ต.ค.66 ร่องมรสุมจะสวิงขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักบางแห่ง ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน

และระยะนี้เริ่มมีลมเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมหนาว) พัดปกคลุม จากมวลอากาศเย็นแผ่ซึมลงมา เป็นช่วงท้ายๆของฝนที่จะเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศมีความแปรปรวนสูง ยังเฝ้าระวังฝนตกหนัก

ส่วนช่วงวันที่ 10 -17 ต.ค.66 มวลอากาศเย็น (ความกดอากาศสูง) เริ่มแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ทำให้มีอากาศเย็นในตอนเช้า ทิศทางลมเริ่มเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ ปกคลุมภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ฝนยังเกิดขึ้นได้ตามแนวร่องมรสุม ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามฝนตกหนักบางพื้นที่

กรมอุตุฯจับตาหย่อมความกดอากาศ 2 ลุกใหม่
ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

จับตาพายุลูกใหม่

สำหรับสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้ตอนบน: พายุไต้ฝุ่น “โคอินุ (KOINU) ยังไม่สลายตัวง่ายๆ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกตามแนวชายฝั่งตอนใต้ของประเทศจีนในวันที่ 8-9 ต.ค.66 แต่เมื่อปะทะกับมวลอากาศเย็นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ พายุนี้จะไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย

ทั้งนี้ฝนที่เกิดขึ้นมาจากร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมในขณะนี้ และในมหาสมุทรแปซิฟิกมี พายุโซนร้อน “บอละเรน (BOLAREN)” ก่อตัวคาดว่าจะแรงขึ้นอีก แต่อยู่ห่างจากประเทศไทยมาก จึงไม่มีผลกระทบ

พายุโซนร้อน บอละเวน (BOLAVEN)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับชื่อของพายุ กรมอุตุนิยมวิทยายังใช้ชื่อไม่ตรงกัน บางรูปภาพที่โพสต์ในเฟซบุ๊กใช้ชื่อว่าพายุโซนร้อน บอละเวน(BOLAVEN) แต่ในแผนที่อากาศผิวพื้นใช้ชื่อว่า BOLAREN

ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำทางด้านตะวันออกของฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ ในช่วงวันที่ 12 -15 ต.ค.66 แต่ก่อตัวในช่วงที่มีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว จึงไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย ยังต้องติดตามเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

แผนที่อากาศผิวพื้น : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณด้านตะวันตกของประเทศ กับมีพายุโซนร้อนลูกใหม่ "BOLAREN" ในมหาสมุทรแปซิฟิก
แผนที่อากาศผิวพื้น : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณด้านตะวันตกของประเทศ กับมีพายุโซนร้อนลูกใหม่ บอละเวน (BOLAVEN) หรือ BOLAREN ในมหาสมุทรแปซิฟิก

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงในระยะนี้

สำหรับทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “โคอินุ” คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงวันที่ 8-9 ต.ค. 66 หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค. 66 จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ย ซึ่งจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปสชันตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางไว้ด้วย

ส่วนสถานการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด มีแผ่นดินไหวที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย (Nicobar Islands, India Region) ขนาด 4.3 อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.เมือง จ.พังงา ประมาณ 458 กม.

แผ่นดินไหวที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย (Nicobar Islands, India Region) ขนาด 4.3

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 12:00 น. วันนี้ ถึง 12:00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน
ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร
นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร
อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และสมุทรสาคร
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
(ออกประกาศ 08 ตุลาคม 2566)

พยากรณ์อากาศ กทม. 8-14 ตุลา2566
พยากรณ์อากาศ กทม. วันที่ 8-14 ตุลา2566