กรมอุตุฯเตือน 24 ชม.ข้างหน้า 9 เขตใน กทม. รับมือฝนตกหนัก-หนักมาก

กรมอุตุฯเตือน 9 เขตในกทม.รับมือฝนตกหนัก 7-8 พ.ย.66

กรมอุตุฯเตือน 24 ชั่วโมงข้างหน้า พื้นที่ 9 เขตใน กทม. เตรียมรับมือฝนตกหนัก-หนักมาก ขณะที่อีก 24 เขตมีฝนตกปานกลาง เหตุมวลอากาศเย็นมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ ทำให้มีฝนเพิ่ม-ตกหนักช่วง 8-11 พ.ย.นี้

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เมื่อเวลา 12.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ลักษณะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกพัดนำความชื้นจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้เข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

กรมอุตุฯระบุว่า สำหรับพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จากการพยากรณ์ปริมาณฝนสะสมใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า หรือระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ถึง 07.00 น.ของวันรุ่งขึ้น (8 พ.ย.) คาดการณ์ว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครบริเวณที่จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีด้วยกัน 9 เขต โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมือง ได้แก่ เขตบางรัก ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ คลองสาน ตลิ่งชัน สาทร ราชเทวี บางแค และมีพื้นที่ 24 เขตที่จะมีฝนตกในระดับปานกลาง (ดูกราฟิกประกอบ)

กรมอุตุฯเตือน 9 เขตในกทม. รับมือฝนตกหนัก-หนักมาก 7 พ.ย.66
คาดการณ์พื้นที่ใน กทม.ที่จะมีฝนตกหนัก-หนักมาก ใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า (7-8 พ.ย. 2566)

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 12.00 น.วันนี้ ถึง 12.00 น.วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง
ตาก สุโขทัย พิจิตร และกำแพงเพชร
อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพฯและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. (ออกประกาศ 07 พฤศจิกายน 2566)

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 8-11 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

หลังจากนั้นในวันที่ 12-13 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบน ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองมีฝนตกหนักบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตรตลอดช่วง

ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 9-13 พ.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

แผนที่อากาศผิวพื้น 7 พ.ย.2566
อธิบายภาพ : บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้