เช็กเบี้ยผู้สูงอายุ เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าบัญชีล่วงหน้า 2 วัน

คนชรา

เบี้ยผู้สูงอายุเดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าบัญชีเร็วกว่าปกติ 2 วัน เช็กการลงทะเบียนรับสิทธิ เงินเข้าบัญชี เกณฑ์รับเบี้ยผู้สูงอายุ สวัสดิการและสิทธิที่ผู้สูงอายุควรได้รับ

เบี้ยผู้สูงอายุ โอนเข้าบัญชีแล้ววันนี้ (8 ธ.ค 66) เนื่องจากวันที่ 10 ของเดือน ปกติจะเป็นการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ แต่วันที่ 10 เดือนธันวาคม 2566 นั้น ตรงกับวันอาทิตย์ กระทรวงมหาดไทย เลยเลื่อนจ่ายก่อนเป็น วันที่ 8 ธันวาคม 2566 แทน

ซึ่งเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นเงินที่ภาครัฐช่วยสนับสนุนรายได้ให้กับผู้สูงอายุ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสิทธิและสวัสดิการที่ผู้สูงอายุชาวไทยทุกคนจะได้รับ

ลงทะเบียนรับสิทธิต้องทำอย่างไร

ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 59 ปีบริบูรณ์สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ของปีนั้น และเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีถัดไป ก็จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนตุลาคม ในปีนั้น ๆ โดยสามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพด้วยตัวเองได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายนของทุกปี

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมของทุกปีเป็นต้นไป โดยจะต้องเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน-1 ตุลาคม ของปีนั้น ๆ จึงจะลงทะเบียนล่วงหน้าได้ โดยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปี นั่นคือ เดือนตุลาคมของปีนั้น

เกณฑ์รับเบี้ยผู้สูงอายุ

เกณฑ์เก่า : ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ เมื่อปี 2552

  • มีสัญชาติไทย
  • มีอายุ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ลงทะเบียน และยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • กรณีที่ผู้สูงอายุที่มีบุตรทำงานในหน่วยงานรัฐ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพ-ผู้สูงอายุได้ด้วย
  • กรณีที่ผู้สูงอายุได้รับเงินบำนาญพิเศษตลอดชีวิตแทนจากการที่บุตรปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศจนร่างกายพิการ ทุพลภาพ หรือเสียชีวิต ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ด้วย
  • กรณีที่ผู้สูงอายุที่ได้รับบัตรสวัสดิการคนจนจากรัฐ ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ด้วย

เกณฑ์ใหม่ : ประกาศ เมื่อ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

  • มีสัญชาติไทย
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติอย่างชัดเจนเรื่องเกณฑ์การชี้วัดรายได้ที่ไม่เพียงพอ ให้ใช้ระเบียบการเบิกจ่ายฉบับเดิมไปก่อน จนกว่าจะมีการกำหนดคุณสมบัติอย่างชัดเจน

กรณีผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ

  • ต้องไม่เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. หรือ อบต.) อาทิ เงินบำนาญ เบี้ยหวัด
  • รวมถึงเงินอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับเงินเบี้ยยังชีพ เช่น ผู้สูงอายุที่เคยทำงานและได้รับเงินเดือน มีรายได้ประจำ หรือผลตอบแทนอื่น ๆ จากหน่วยงานรัฐ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

หลักฐานการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

กรณีลงทะเบียนด้วยตนเอง

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์) จำนวน 1 ชุด และสำเนา 1 ชุด

กรณีผู้สูงอายุไม่สามารถไปลงทะเบียนได้ด้วยตัวเอง ต้องเตรียมเอกสารเพิ่มคือ

  • หนังสือมอบอำนาจ (ยื่นแบบฟอร์มให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมสำเนา 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมสำเนา 1 ชุด

ขั้นตอนการยื่นขึ้นทะเบียน

  • ประกาศและประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุทราบสิทธิของตนเอง
  • ลงทะเบียนตามวัน เวลา สถานที่ที่กำหนด (ในวันและเวลาราชการ)
  • ให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนได้ตามแบบรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ด้วยตนเอง

สถานที่การขึ้นทะเบียน

  • จุดบริการ ใน กทม. : สำนักงานเขต 50 เขต
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) : ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมสำนักงานเขตป้อมปราบ ศัตรูพ่าย กทม.โทร.0-2282-4196
  • องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น : อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) หรือ เทศบาลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ

  • มกราคม 2566 : วันอังคารที่ 10 มกราคม 2566
  • กุมภาพันธ์ 2566 : วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566
  • มีนาคม 2566 : วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566
  • เมษายน 2566 : วันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2566
  • พฤษภาคม 2566 : วันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2566
  • มิถุนายน 2566 : วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566
  • กรกฎาคม 2566 : วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม 2566
  • สิงหาคม 2566 : วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566
  • กันยายน 2566 : วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2566
  • ตุลาคม 2566 : วันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566
  • พฤศจิกายน 2566 : วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566
  • ธันวาคม 2566 : วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566

การจ่ายเงิน

ภาครัฐจะโอนเงินผ่านธนาคารที่ผู้สูงอายุแจ้งมาให้ทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน หากวันที่ 10 ของเดือนใดตรงกับวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็จะเลื่อนเวลาจ่ายเงิน เป็นก่อนวันที่ 10 ของเดือนนั้น ๆ ดังนั้นอาจจะได้รับเงินไม่ตรงวันที่ 10 ในแต่ละเดือน ล่าสุดสามารถเช็กเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้ทางแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ”

การจ่ายเบี้ยยังชีพที่ผู้สูงอายุได้รับตามขั้นบันได

  • ผู้สูงอายุ 60-69 จะได้รับเบี้ยยังชีพ 600 บาท
  • ผู้สูงอายุ 70-79 จะได้รับเบี้ยยังชีพ 700 บาท
  • ผู้สูงอายุ 80-89 จะได้รับเบี้ยยังชีพ 800 บาท
  • ผู้สูงอายุ 90 ขึ้นไป จะได้รับเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท

ผู้สูงอายุควรได้รับสิทธิ คุ้มครองอะไรบ้าง

เมื่อประชาชนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป รัฐจึงออกกฎหมายคุ้มครอง และจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ ทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายผู้สูงอายุปี 2546 กำหนดให้ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายในด้านต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุทั้ง 5 ด้าน ได้แก่

  • ด้านสุขภาพ จัดบริการ และการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เช่น การจัดช่องทางพิเศษ จัดเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ จัดการดูแลสุขภาพในระยะยาว
  • ด้านเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุต้องเข้าถึงเบี้ยยังชีพรายเดือนอย่างเป็นธรรรม จัดหากองทุนกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ ลดหย่อนภาษี หรือ ลดค่าเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ
  • ด้านสังคม ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัยแก่ผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมทางสังคม การเปิดให้เข้าชมฟรี ในสถานที่ต่าง ๆ ของรัฐ
  • ด้านสิ่งแวดล้อม จัดอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อม ทั้งในเรื่องสถานที่ บ้านพักอาศัย เพื่อให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ความปลอดภัย
  • ด้านการสงเคราะห์ ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับอันตราย กรณีถูกทารุณกรรม หรือถูกแสวงหาประโยชน์ หรือถูกทอดทิ้ง

สวัสดิการที่ผู้สูงอายุได้รับมีอะไรบ้าง

1.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 600-1,000 บาท/คน/เดือน
ลดค่าโดยสารยานพาหนะสาธารณะ ครึ่งราคา อาทิ รถไฟ, รถเมล์ ขสมก., รถไฟฟ้า MRT, รถไฟฟ้า BTS, 2.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์, รถ บขส., เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือคลองแสนแสบ
3.ลดหย่อนภาษีแก่บุตรกรณีที่เลี้ยงดูบิดามารดาที่สูงอายุ 3 หมื่นบาทต่อผู้สูงอายุ 1 คนต่อปี
4.ขอปรับสภาพที่อยู่อาศัย สำหรับผู้สูงอายุที่ยากจน มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงและเหมาะสม สามารถขอปรับสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมปลอดภัย เหมาจ่าย 22,500 บาท หรือ 40,000 บาทต่อคน
5.ด้านกู้ยืมเงินทุนปลอดดอกเบี้ย เพื่อประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุได้ คนละไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือรวมกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 5 คน กู้ได้ไม่เกิน 1 แสนบาท แต่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ระยะเวลาจ่ายหนี้เป็นเวลา 3 ปี
6.สิทธิด้านอาชีพ ผู้สูงอายุสามารถขอคำปรึกษา แนะนำ และสมัครงาน รวมทั้งฝึกอาชีพ
7.ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมในพื้นที่สาธารณะ อาทิ พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ฯลฯ ประกอบด้วย ลิฟต์ ราวบันได ทางลาด ที่จอดรถ ห้องน้ำ ฯลฯ
8.สิทธิด้านการศึกษาเพื่อผู้สูงอายุได้เรียนรู้ สอดคล้องกับความต้องการให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
9.สิทธิด้านการแพทย์ ผู้สูงอายุสามารถเข้ารับบริการดูแลสุขภาพต่าง ๆ ผ่านช่องทางพิเศษ
10.การช่วยเหลือด้านกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม มีบริการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้สูงอายุ เช่น ให้เงินค่าจ้างทนาย ค่าธรรมเนียมขึ้นศาล ค่าวางเงินประกันปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น
11.ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐแก่ผู้สูงอายุ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์ เป็นต้น
12.เปิดให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น สถานกีฬาต่าง ๆ ส่วนศูนย์กีฬาในร่ม ได้ลดค่าสมัครสมาชิกครึ่งราคา
13.ด้านบริการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถูกทารุณกรรม ถูกทอดทิ้ง มีอันตราย หรือถูกหาประโยชน์ โดยจัดหาที่พักอาศัยปลอดภัย ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ
14.สิทธิด้านอาหารและเครื่องนุ่งห่ม กรณีผู้สูงอายุที่ประสบปัญหา สามารถขอรับเงินช่วยเหลือได้คนละไม่เกิน 3,000 บาท ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง
15.กรณีผู้สูงอายุยากจนและขาดผู้ดูแล สามารถขอใช้บริการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุได้
16.กรณีผู้สูงอายุยากจนและเสียชีวิต ญาติสามารถขอรับเงินจัดการศพรายละไม่เกิน 3,000 บาท ได้ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันออกใบมรณบัตร