BITE SIZE : เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเกณฑ์ใหม่ ทำให้ไม่ถ้วนหน้า?

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นที่สนใจอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการประกาศระเบียบใหม่ของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ซึ่งได้ระบุคุณสมบัติล่าสุดของผู้ที่จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ ทำให้เกิดความสับสนอย่างมากกับผู้สูงอายุ 11 ล้านกว่าคน ทั้งผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิไปก่อนหน้านี้แล้วว่า จะยังได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไปหรือไม่ และผู้ที่ใกล้จะเข้าวัย 60 ว่า แล้วฉันจะสามารถขึ้นทะเบียนได้หรือไม่

Prachachat BITE SIZE สรุปเรื่องสำคัญที่น่าสนใจ เกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับนี้

จุดเริ่มต้นการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ

การจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 ยุครัฐบาลอภิสิทะฺ์ เวชชาชีวะ โดยจะจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ “ทุกคน” ที่มีสิทธิ และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ โดยเฉพาะเบี้ยหวัดบำเหน็จ บำนาญ จะยากดีมีจน ทำสัมมาชีพอะไรก็ตาม ถ้าไม่ใช่ข้าราชการที่ได้รับบำนาญ ได้สิทธินี้ทุกคน

โดยอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แรกเริ่มอยู่ที่ 500 บาท/เดือน ต่อมาในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2554 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว มีการปรับเพิ่มเป็น 600-700-800-1,000 บาท/เดือน สำหรับอายุ 60, 70, 80 และ 90 ปีตามลำดับ

เทียบระเบียบเก่า-ระเบียบใหม่ อะไรเปลี่ยนไป ?

สำหรับระเบียบใหม่ของกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เป็นข่าวและเป็นความสนใจของผู้คนนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

สำหรับระเบียบฉบับปี 2552 ระบุว่า คนที่ได้เบี้ยผู้สูงอายุจะต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ขณะที่ฉบับใหม่ ปี 2566 ที่ประกาศใช้ล่าสุด ระบุว่า คนที่จะได้เบี้ยผู้สูงอายุ ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

การเปลี่ยนเนื้อความในครั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และให้การจ่ายเงินโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชัดเจนขึ้น

ระเบียบใหม่ ต้องพิสูจน์สิทธิ ?

เมื่อเรามาดูระเบียบฉบับใหม่ ที่ระบุคุณสมบัติว่า ต้องเป็นผู้สูงวัยที่ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ทำให้เป็นที่ตั้งข้อสังเกตของสังคมเป็นอย่างมาก และทุกคนก็จะสงสัยต่อไปว่า ต้องพิสูจน์ความจนกันอีกหรอ ? อะไรเป็นตัวกำหนดว่าเรารายได้ไม่เพียงพอ ?

เพราะในบทเฉพาะกาลของระเบียบฉบับใหม่ กำหนดไว้ว่า ระหว่างที่รอการกำหนดคุณสมบัติจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ สามารถใช้หลักเกณฑ์จากฉบับเดิม เมื่อปี 2552 ไปก่อนได้ ความหมายคือ คนที่ได้รับเบี้ยยังชีพอยู่แล้ว 11 ล้านกว่าคน ยังคงได้รับต่อไป

ขณะเดียวกันระเบียบฉบับใหม่ ยังมีการกำหนดไว้อีกว่า หากผู้สูงอายุไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ แต่ได้รับเงินไปก่อนโดยสุจริตแล้ว ให้รายงานเพื่อพิจารณาการงดจ่ายเบี้ยยังชีพ แต่จะไม่มีการเรียกคืนเงินอีก

แต่สิ่งที่ยังเป็นคำถามใหญ่ต่อไป คือ เกณฑ์หรือคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุตามระเบียบฉบับใหม่นี้ ซึ่งทุกคนล้วนยังไม่เห็นรายละเอียดตรงนี้

จากนี้ต้องดูกันต่อไปว่า หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะเคาะออกมา เป็นอย่างไร แล้วรัฐบาลใหม่ที่ใกล้จะได้เห็นหน้าแล้ว จะมีการปรับเปลี่ยนอะไรเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุบ้าง

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.16 ได้ที่ https://youtu.be/0POHRofZMdE