เปิดหลักเกณฑ์ใหม่ เบี้ยผู้สูงอายุ ใครได้รับสิทธิ ใครไม่ได้บ้าง

ผู้สูงอายุ เบี้ยผู้สูงอายุ

เบี้ยผู้สูงอายุ เทียบคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิทั้งฉบับก่อนหน้า-ฉบับใหม่ เปลี่ยนไปอย่างไร ใครรับสิทธิได้ ใครรับสิทธิไม่ได้

เบี้ยผู้สูงอายุยังเป็นเรื่องราวที่เป็นที่ถกเถียงของสังคมไทยอย่างต่อเนี่อง จากการออกระเบียบฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดคุณสมบัติล่าสุดของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยการกำหนดคุณสมบัติใหม่ในครั้งนี้เป็นที่สนใจของสังคมไทยถึงสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุว่าจะมีหลักเกณฑ์การจ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมขนาดไหน

คุณสมบัติผู้รับเบี้ยผู้สูงอายุ เปลี่ยนแปลงอย่างไร

คุณสมบัติหลัก 3 ข้อของผู้ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีดังนี้

  1. มีสัญชาติไทย
  2. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  3. มีอายุ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เปิดเกณฑ์เก่า-เกณฑ์ใหม่ รับเบี้ยผู้สูงอายุ

สำหรับหลักเกณฑ์เก่าตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ เมื่อปี 2552 ระบุว่า “ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ”

ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายมากขึ้นคือ ผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป หากไม่ได้รับเบี้ยหวัดบำเหน็จ บำนาญ สามารถรับสิทธิเบี้ยผู้สูงอายุได้ เพียงยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

Advertisment

ขณะที่หลักเกณฑ์ใหม่ที่ประกาศล่าสุด เมื่อ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่าต้องเป็น “ผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด”

หลักเกณฑ์ใหม่นี้จะเปลี่ยนไปจากการที่ให้สิทธิทุกคนที่ไม่ได้รับเบี้ยบำเหน็จ บำนาญของข้าราชการ มาเป็นการให้สิทธิเฉพาะผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอตามคุณสมบัติที่คณะกรรมการกำหนดไว้

Advertisment

หากดูรายละเอียดของระเบียบฉบับล่าสุดนั้น แม้ว่าจะมีการระบุบทเฉพาะกาลไว้ว่า หากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติอย่างชัดเจน ให้ใช้ระเบียบการเบิกจ่ายฉบับเดิมไปก่อน จนกว่าจะมีการกำหนดคุณสมบัติอย่างชัดเจน

คำถามใหญ่ที่ยังเป็นที่สงสัยต่อของสังคมคือ อะไรคือสิ่งที่จะบ่งบอกว่าผู้ได้รับสิทธินั้นมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่งเรื่องนี้ยังคงต้องรอความชัดเจนของคณะกรรมการผู้สูงแห่งชาติ รวมถึงรัฐบาลใหม่ในการกำหนดความชัดเจนนี้ให้เกิดขึ้น

ระเบียบใหม่ ให้ยกเลิกสิทธิได้ แต่ไม่ให้เรียกเงินคืน

อีกหนึ่งข้อสำคัญที่เพิ่มเข้ามาใหม่คือ รายละเอียดกรณีการสิ้นสุดการได้รับเบี้ยยังชีพ กรณีพบว่าไม่มีสิทธิรับ โดยระบุว่า “หากผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยความสุจริต ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนรายงานผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน”

กล่าวคือ หากได้รับสิทธิแล้ว และตรวจสอบภายหลังว่าไม่มีสิทธิรับ จะไม่ได้รับเงินดังกล่าวอีกต่อไป แต่เบี้ยผู้สูงอายุที่ได้รับไปก่อนหน้านี้ หากได้รับโดยสุจริต ไม่มีการทุจริตใด ๆ ก็จะไม่ถูกเรียกเงินได้รับไปก่อนหน้านี้คืน

ลงทะเบียนรับสิทธิเบี้ยผู้สูงอายุต้องทำอย่างไร

ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 59 ปีบริบูรณ์สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ของปีนั้น และเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีถัดไป ก็จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนตุลาคมในปีนั้น ๆ โดยสามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพด้วยตัวเองได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.ของทุกปี แต่ถ้าหากลงทะเบียนช้า หรือรอลงทะเบียนเมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็จะได้รับเงินในปีถัดไป

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมของทุกปีเป็นต้นไป โดยจะต้องเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน-1 ตุลาคมของปีนั้น ๆ จึงจะลงทะเบียนล่วงหน้าได้ โดยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปี นั่นก็คือเดือนตุลาคมปีนั้น ซึ่งก็คืออายุครบ 60 ปีเต็มในเดือนตุลาคม 2565 นั่นเอง

อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เคยลงทะเบียน ต้องทำอย่างไร

สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือน มกราคม-กันยายน 2566 จะมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป (ปีงบประมาณ 2567) โดยเตรียมหลักฐานเพื่อลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนี้

1.กรณีลงทะเบียนด้วยตนเอง

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ชุด
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
  3. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์) จำนวน 1 ชุด

2.กรณีผู้สูงอายุไม่สามารถไปลงทะเบียนได้ด้วยตัวเอง ต้องเตรียมเอกสารเพิ่มคือ

  1. หนังสือมอบอำนาจ (ยื่นแบบฟอร์มให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด
  3. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด