คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง
ความหวังของผู้สูงวัยทั้งประเทศไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป ที่จะได้รับการดูแลจากรัฐ เริ่มต้นเดือนละ 600 บาท กำลังถูกสั่นคลอน จากการประกาศใหม่ ของรัฐบาลรักษาการ
เมื่อราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่ เรื่องหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ หลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ระเบียบดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
เป็นไปตามมติของรัฐบาลรักษาการ ที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติใหม่ของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า “ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด“
แม้ว่าประกาศฉบับนี้จะระบุว่า ผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนการประกาศใช้ระเบียบนี้ ให้ยังคงได้รับสิทธิต่อไป แต่ก็ยังสั่นไหวสังคมสูงวัยทั่วถึงทุกชนชั้น
เพราะประกาศดังกล่าวระบุข้อความตีความได้ว่า สิทธิของผู้สูงวัยในปี 2566 เป็นต้นไป อาจไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุอีกแล้ว แม้จะไม่โดนเรียกเงินคืน คือ “หากผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยความสุจริต ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนรายงานผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน“
สำหรับเบี้ยยังชีพที่จ่ายให้ผู้สูงอายุ กำหนดการจ่ายเป็นขั้นบันได ตามอายุ ดังนี้ 1.อายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท 2.อายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท 3.อายุ 80-89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท 4.อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า จำนวนผู้สูงอายุในไทย ใน 2565 มียอด 12.6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ 11.03 ล้านคน นอกนั้นเป็นผู้สูงอายุในกลุ่มข้าราชการเกษียณอายุที่รับเงินบำนาญจากรัฐ
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณปี 2566 สำหรับจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ 11.03 ล้านคน จำนวน 87,580.10 ล้านบาท กับงบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำนาญ บำเหน็จ ของข้าราชการ จำนวน 811,272 ล้านคน มีการจัดงบประมาณไว้ 322,790 ล้านบาท
กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประสานตัวเลขการจัดทำงบประมาณ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้จ่ายเบี้ยยังชีพ และกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ยังมี คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน ในฐานะที่เป็นรองนายกฯ กำกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ประเด็นสำคัญที่สุดของประกาศใหม่จึงอยู่ที่ระบุว่าการ จ่าย–ไม่จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้กับใคร ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ใหม่ ที่กำหนดโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งจะดำเนินการหลังจากนี้ ส่วนคนที่ได้สิทธิอยู่แล้วก็ได้ต่อไป
ประกาศใหม่ฉบับนี้ มีสาเหตุมาจากประเด็นปัญหาการร้องเรียน ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว มีการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากผู้สูงอายุนับหมื่นราย หลังจากกระทรวงการคลังพบว่ามีการรับสิทธิทับซ้อนกับเงินบำนาญส่วนอื่น เช่น ทหาร ตำรวจ โดยเป็นการเรียกคืนย้อนหลังไปจนถึงปี 2552 ผู้สูงอายุต้องส่งเงินคืนรัฐ นับหมื่นนับแสนบาท
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกมติ ครม. วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ให้คืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ได้รับเงินซ้ำซ้อน และได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นจำนวนเงิน 245.24 ล้านบาท และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดี
เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่ได้มีคำวินิจฉัยว่า เงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพ ต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ เป็นเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ ที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบ ในกรณีที่ผู้สูงอายุนำเงินมาคืนราชการ หน่วยงานที่รับเงินไว้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินคืนให้ผู้สูงอายุ
จากนั้นรัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรับปรุงระเบียบการจ่ายเงินใหม่ และให้เร่งพิจารณากำหนดนโยบายการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ชัดเจนโดยเร็ว
จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในการจ่ายเงินสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้าที่มีมานานถึง 14 ปี ตามความในประกาศราชกิจจานุเบกษาที่เผยแพร่ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 เรื่องหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่
ผู้สูงอายุที่เคยมีสิทธิอยู่แล้วอย่างถ้วนหน้า ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุแบบไม่มีเงื่อนไข มาตั้งแต่ปี 2552 กลับกลายเป็นต้องมา “ยืนยันสิทธิ” ตามระเบียบใหม่ ที่ออกประกาศโดยรัฐบาลชุดเก่า