ครบรอบ 19 ปี คลื่นยักษ์สึนามิถล่มไทย

ครบรอบ 19 ปี คลื่นยักษ์สึนามิ ถล่มไทย
ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน

ครบรอบ 19 ปี คลื่นยักษ์สึนามิถล่มประเทศไทย ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ภูเก็ต-พังงา-กระบี่ จัดกิจกรรมรำลึกไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตและผู้สูญหาย

วันที่ 26 ธันวาคม 2566 ย้อนไปเมื่อ 19 ปีที่แล้ว วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เวลา 07.58 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง มีศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่มหลายพื้นที่ทั่วมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งได้ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย ทางภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล

ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก จากเหตุภัยพิบัติในครั้งนั้นสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล รัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันอุบัติภัยแห่งชาติอีกด้วย

กำแพงสึนามิไม้ขาว รำลึกแด่ผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตได้จัดงานรำลึกสึนามิ ณ บริเวณสุสานไม้ขาว หมู่ที่ 5 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หรือกำแพงสึนามิไม้ขาว โดยประกอบพิธีทำบุญทางศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ผู้เข้าร่วมงานได้มีการวางพวงหรีดและช่อดอกไม้สดที่กำแพงรำลึกสึนามิ ซึ่งมีการประดับธงชาติของประเทศที่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 45 ประเทศ

โดยบริเวณกำแพงรำลึกสึนามิ สุสานไม้ขาว เคยถูกใช้เป็นจุดในการเก็บรวบรวมศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ เพื่อรอการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล หลังจากนั้นจึงได้มีการสร้างกำแพงขึ้น เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายเป็นประจำทุกปี

กระบี่จัดงานรำลึก 19 ปี

วันนี้ เมื่อปี 2547 ที่เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิได้สร้างความเสียสายต่อ จ.กระบี่ จึงได้มีการจัดงานรำลึกถึงผู้สูญหาย และผู้เสียชีวิตต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ณ บริเวณลานอเนกประสงค์พีพีอาร์เบอร์วิวอ่าวต้นไทร หมู่ที่ 7 บ้านเกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ โดยมีผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน ญาติผู้สูญหายและเสียชีวิต รวมถึงนักท่องเที่ยวร่วมงานยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อไว้อาลัยและรำลึก พร้อมประกอบพิธีทางศาสนาพุทธ อิสลาม และคริสต์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ

โดย จ.กระบี่ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทำให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ เสียชีวิตรวม 722 คน สูญหายอีก 587 คน

อนุสรณ์สถานสึนามิ เตือนใจ บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา

นอกจากนี้ จ.พังงาก็ได้มีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยมีกำหนดการวางพวงมาลารำลึกถวายคุณพุ่ม เจนเซ่น การวางดอกไม้ การยืนไว้อาลัย และพิธีกรรมทางศาสนา 3 ศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม

สำหรับบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ได้รับความเสียหายรุนแรงจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ รัฐบาลจึงได้จัดทำสวนอนุสรณ์สถานสึนามิ บ้านน้ำเค็ม ที่มีทั้งหอเตือนภัย พิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้ทุกคนนึกถึงความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าว

โดยสวนอนุสรณ์สึนามิ บ้านน้ำเค็ม มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ มีเรือประมงที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิเป็นอนุสรณ์ และยังมีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมทรงโค้งคล้ายกับคลื่น และอีกฝั่งเป็นป้ายจารึกสลักรายชื่อผู้เสียชีวิตไว้เป็นแนวยาว ที่ยังคงมีคนมาไว้อาลัยอยู่เสมอ

นอกจากนี้ในบริเวณสวนอนุสรณ์ยังประกอบไปด้วย สวนพักผ่อน สวนสุขภาพสำหรับออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น ติดชายทะเล และยังมีพระใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ริมชายหาด รวมถึงพระรูปของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ให้ได้สักการะอีกด้วย

การเฝ้าระวังภัยสึนามิ

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุภัยพิบัติเมื่อปี 2547 มีการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ 2 แห่ง ตัวแรกอยู่ห่างจากเกาะภูเก็ตราว 1,000 กม. ตัวที่ 2 อยู่ห่างจากเกาะภูเก็ตราว 300 กม. หากมีการเตือนจากทุ่นลอยตัวแรก จะมีเวลาในการอพยพราว 2 ชั่วโมงครึ่ง และถ้ามีสัญญาณเตือนจากทุ่นตัวที่ 2 จะมีเวลาอพยพประมาณ 45 นาที

นอกจากนี้ยังมีหอเตือนภัยสึนามิขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใน 6 จังหวัด ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ทั้งสิ้น 130 แห่ง หากเกิดสึนามิชายฝั่งอันดามัน หอเตือนภัยจะส่งเสียงดังขึ้นหลังกดสัญญาณเตือนภัย ทั้งหมด 5 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น เพื่อให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอพยพได้อย่างทันท่วงที