รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย เก็บเงินวันแรก รายได้เป็นอย่างไร ?

รถไฟฟ้า BTS ขบวนรถไฟฟ้า
ภาพจาก ศูนย์ภาพเครือมติชน

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” และ “แบริ่ง-สมุทรปราการ” เริ่มเก็บค่าโดยสารวันแรกเมื่อ 2 มกราคม 2567 รายได้เป็นอย่างไร

หลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บโดยกรุงเทพมหานคร ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย เส้นทางช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และเส้นทางช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในอัตราสูงสุด 15 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมานั้น

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากการเริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ส่วน เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 เป็นวันแรก พบว่า

  • รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วง “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” ผู้โดยสาร 150,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน มีรายได้ 2.25 ล้านบาท
  • รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วง “แบริ่ง-สมุทรปราการ” ผู้โดยสาร 67,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน รายได้ 1 ล้านบาท

เทียบกับก่อนที่จะมีการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย เป็นดังนี้

  • ช่วง “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต”  ผู้โดยสาร 280,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน
  • ช่วง “แบริ่ง-สมุทรปราการ” ผู้โดยสาร 80,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน

เนื่องจากอยู่ในช่วงวันหยุดต้องใช้เวลาเก็บข้อมูล 1 สัปดาห์ จึงจะทราบตัวเลขที่แท้จริง ส่วนทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ยังไม่พบปัญหา

เป็นบทเรียนรัฐ เข้มตรวจสอบเอกชน

สำหรับกรณีรถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่เกิดเหตุขัดข้องในเวลาใกล้เคียงกันนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า อยากให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของสัมปทานดูแลทั้ง 2 โครงการ เข้มงวดเอกชนให้มากขึ้น

พร้อมทั้งให้ถือเป็นบทเรียนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าใหม่เส้นทางใหม่ เกี่ยวกับการให้สัมปทานเอกชนก่อสร้างเองเหมือนกับสายสีชมพูและสายสีเหลือง หน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบได้มากน้อยเพียงใด เปรียบเทียบกับรูปแบบหน่วยงานรัฐก่อสร้างเอง ซึ่งมีอำนาจเต็มที่จะเข้าไปตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าที่ กทม.เป็นผู้ดูแลเองนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ติดตามและตรวจสอบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต