มัดรวม 4 เรื่องเด็ด “กทม.” เก็บค่าโดยสารสีเขียว 15 บาท-แก้โรค-แก้ลิง-แก้ฝุ่น

กทม.

เปิดศักราชปีใหม่ 2567 ตามไปดูนโยบายเด็ด-มาตรการดังของ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” คัดเน้น ๆ เป็นนโยบายที่จะมีผลลัพธ์ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นไป

จุดโฟกัสอยู่ที่มีหนังตัวอย่าง 4 นโยบายและมาตรการ ในยุคผู้ว่าราชการคนที่ 17 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เพื่อต่อจิ๊กซอว์ทีละตัวในการสร้างมหานครกรุงเทพให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

เก็บค่ารถต่อขยายสีเขียว 15 บาท

ประเดิมด้วย กทม.ประกาศเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 15 บาท พร้อมกันทั้ง 2 ช่วง มีผลตั้งแต่ 2 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

โดย “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร 2552 กำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้ง 2 ช่วง ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กับช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในอัตราคงที่ 15 บาทตลอดสาย ดังนี้

1. ยกเลิกประกาศกรุงเทพมหานคร 2 ฉบับ คือ ประกาศกรุงเทพมหานคร วันที่ 15 มกราคม 2564 และวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

2. ให้จัดเก็บค่าโดยสารสายสีเขียว 15 บาท ทั้ง 2 โครงการ ประกอบด้วย 2.1 รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ (ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท) ระยะทาง 12.80 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี จากสถานีสำโรง (E15) ถึงสถานีเคหะสมุทรปราการ (E23)

2.2 รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (จากสถานีห้าแยกลาดพร้าว (N9) ถึงสถานีคูคต (N24)) ระยะทาง 18.40 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี

สำหรับกรณีเดินทางข้ามระบบส่วนต่อขยายที่ 1 กับเส้นทางต่อขยายทั้ง 2 ช่วง จะไม่คิดค่าโดยสารเพิ่มแต่อย่างใด

คิกออฟเฮลท์สกรีนนิ่ง 1 ล้านคน

ถัดมา นโยบายตรวจสุขภาพประชาชนฟรี โดยตั้งเป้าตรวจทั่วกรุงทั้ง 50 เขต จำนวน 1 ล้านคน ภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้

“ผมถือว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ และเป็นเรื่องที่ กทม. มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องปฐมภูมิ เพราะเราเป็นด่านหน้าที่จะเข้าไปดูแลชุมชน ปัจจุบันประชาชนไปใช้บริการโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากตั้งแต่เช้ามืด เพราะหน่วยปฐมภูมิยังไม่เข้มแข็งพอ จึงอยากเชิญชวนประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง ตรวจคัดกรองสุขภาพหรือ screening ล่วงหน้า”

ทั้งนี้ กทม.มีการจัดบิ๊กแคมเปญ “Bangkok Health Market” ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 3 เมื่อปลายาปี 2566 ที่ผ่านมา และ Health screening ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ หากเราตรวจสุขภาพโดยเฉพาะโรคคนเมือง เมื่อรู้เท่าทันโรคก็จะสามารถป้องกันและแก้ไขได้

เป้าหมายคือตรวจสุขภาพประชาชน 1,000,000 คน ภายในเดือนมิถุนายน 2567 โดยจะผนึกกำลังการทำงานกับภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งทุกภาคส่วน

โดยกิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน กทม. ได้แก่ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย มหาวิทยาลัย สำนักงานเขต กับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 7 โซน

วัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ เข้าถึงระบบบริการทางการแพทย์ ในรูปแบบการจัดพื้นที่โซนสุขภาพกรุงเทพมหานคร โดยมีการให้บริการตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชน ได้แก่ โรคเบาหวาน หัวใจ หลอดเลือดสมอง ภาวะสมองเสื่อม ตรวจหาการติดเชื้อ HIV ด้วยตนเอง วัณโรคปอด มะเร็งปากมดลูก จอประสาทตา และประเมินสุขภาพจิต ฯลฯ

รวมทั้งประเมินความพิการ ออกบัตรผู้พิการ ลงทะเบียนรับเบี้ยผู้พิการ และเปลี่ยนสิทธิผู้พิการ นำเสนอการดูแลผู้ป่วยอย่างไร้รอยต่อ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยมีตัวช่วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการดูแลประชาชน เช่น Motolance Commulance Application หมอ กทม. UMSC และอื่น ๆ

ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการตรวจสุขภาพ สามารถนำบัตรประชาชนมาติดต่อที่โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข และจะมีการหมุนเวียนให้บริการตรวจสุขภาพเชิงรุกแก่ประชาชนทั้ง 50 เขต บริการเชิงรุกไปยังชุมชน เช่น การจัดตลาดนัดสุขภาพในแต่ละโซนสุขภาพทุกเดือน หน่วยตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ทุกวันศุกร์ บริการตรวจสุขภาพเชิงรุกใกล้บ้าน เป็นต้น

จัดโซนนิ่ง “ลิง” บางขุนเทียน

ถัดมา “รศ.ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบปฏิบัติการแก้ปัญหาลิงแสมในเขตบางขุนเทียน ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นปัญหา พบว่าภาพรวมประชากรลิงบางขุนเทียนมี 4 จุด จำนวน 550 ตัว ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณอนุสาวรีย์คุณกะลา (เลียบด่วนกาญจนาภิเษก) 300 ตัว จุดที่ 2 บริเวณซอยเทียนทะเลมี 100 ตัว ทั้ง 2 จุดนี้ กทม.ทำหมัน ตรวจสุขภาพ และฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าแล้วบางส่วน จุดที่ 3 บริเวณบ้านเอื้ออาทรแสมดำ (ซอยแสมดำ 17) จำนวน 50 ตัว และจุดที่ 4 บริเวณชุมชนบางกระดี่ หมู่ 8 จำนวน 100 ตัว ทั้ง 2 จุดนี้ ยังไม่ได้ทำหมันและฉีดวัคซีน

ที่ผ่านมา กทม. แก้ไขปัญหาลิงแล้ว แบ่งเป็นระยะที่ 1 จัดทำประชาคมสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนแสดงความคิดเห็นและแนวทางแก้ไข จัดทำคู่มือเกร็ดความรู้เรื่องลิง เพื่อสร้างความเข้าใจพฤติกรรมของลิงในเบื้องต้น และรับการสนับสนุนอาหาร (ผักและผลไม้) จากผู้ประกอบการและตลาดในพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่เขตเป็นผู้ส่งอาหารบริเวณที่มีลิง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มารับอาหารจุดเดียว ลดการรบกวนบ้านเรือน

อีกทั้งยังจัดโซนนิ่งให้อาหาร ป้องกันอันตรายทางท้องถนนที่อาจเกิดขึ้นกับลิง การจัดทำป้ายเตือนต่าง ๆ และจัดจุดทิ้งขยะในชุมชน พร้อมให้คำแนะนำการเปลี่ยนรูปแบบถังขยะ และวิธีการทิ้งขยะเพื่อป้องกันการรื้อค้นเศษอาหาร

สำหรับระยะที่ 2 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับสำนักงานเขตบางขุนเทียน ทำหมัน ตรวจสุขภาพ สุ่มตรวจโรคฝีดาษวานร และทำประวัติลิงแสมในพื้นที่ โดยใช้งบประมาณของกรมอุทยานฯ มีสถิติการทำหมันลิงปี 2562 จำนวน 89 ตัว ล่าสุด ณ วันที่ 22-27 สิงหาคม 2565 จำนวน 72 ตัว โดยลิงที่ถูกทำหมันจะมีรอยสักสีดำ และทำหมายเลขที่อก และไม่พบโรคฝีดาษวานรและไข้มาลาเรีย

สำหรับปี 2567 กรมอุทยานฯ ให้งบฯ ทำหมันลิง 100 ตัว แบ่งดำเนินการลิงแสมฝูงอนุสาวรีย์คุณกะลา 25 ตัว, ฝูงบริเวณซอยเทียนทะเล 22 จำนวน 25 ตัว, ฝูงบริเวณบ้านเอื้ออาทรแสมดำ 25 ตัว และฝูงบริเวณชุมชนวัดบางกระดี่ หมู่ 8 จำนวน 25 ตัว ระหว่างวันที่ 21-30 มกราคม 2567

การดำเนินการของสำนักงานเขตบางขุนเทียน มีแผนการแก้ไขปัญหาลิงในพื้นที่ที่เหมาะสม ได้แก่ ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ 12-3-57 ไร่ บริเวณซอยเทียนทะเล 22 ของ กทม. เพื่อแยกลิงออกจากบริเวณที่มีบ้านเรือนและชุมชนอาศัยอยู่ ผลักดันให้ลิงเข้ามาอยู่รวมกันเป็นจุดเดียว โดยประสานกรมอุทยานฯ ทำการศึกษาแนวทางและย้ายลิงระยะเร่งด่วน

เปิดสงคราม “ฝุ่นจิ๋ว” 360 องศา

สุดท้าย “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” เยี่ยมห้องเรียนสู้ฝุ่นระดับดีเลิศ รร.วัดวิมุตยาราม เขตบางพลัด เตรียมนำมาเป็นต้นแบบขยายผลสู่ 437 โรงเรียนสังกัด กทม. สาระสำคัญ แบ่งปัญหาฝุ่นเป็น 2 เรื่อง “การสู้ฝุ่น-การลดฝุ่น”

ในขาของการลดฝุ่น ต้องลดที่แหล่งกำเนิดฝุ่น คือ รถยนต์ ซึ่งอาจจะหวังผลไม่ได้มากนักเนื่องจากฤดูหนาวอากาศปิดทำให้ค่าฝุ่นยังสูงอยู่ จึงต้องหันมาดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบางก็คือเด็กในโรงเรียน เป็นที่มาของการสร้าง “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” เพื่อให้เด็กตระหนักรู้ถึงที่มาและอันตรายของฝุ่น PM 2.5 รวมถึงวิธีป้องกัน ให้ความรู้แก่คุณครู ผู้ปกครอง และชุมชน

โดยเป็นความร่วมมือ 3 ประสาน “กทม.-สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)-กรมอนามัย” จัดห้องเรียนปลอดฝุ่น โฟกัสเด็กชั้นอนุบาล ที่อาจจะยังใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้ และยังซุกซนอยู่ ห้องปลอดฝุ่นจึงสามารถป้องกันเด็กเหล่านี้ได้ โดยห้องปลอดฝุ่นดังกล่าวได้รับรางวัลระดับดีเลิศจาก สสส. เนื่องจากสามารถกรองฝุ่นเหลือค่าเพียงกว่า 10 มคก./ลบ.ม. เท่านั้น เมื่อเทียบกับภายนอกห้องที่มีค่ากว่า 30 มคก./ลบ.ม.

ทั้งนี้ “ศานนท์ หวังสร้างบุญ” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน กทม.มีห้องเรียนสำหรับเด็กอนุบาล 1,743 ห้อง ทำห้องเรียนปลอดฝุ่นแล้ว 758 ห้อง คิดเป็นสัดส่วน 46% ตั้งเป้ามีห้องปลอดฝุ่นครบทั้ง 437 โรงเรียนในสังกัด กทม.

รูปแบบจัดให้มีเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศในรูปแบบห้องปลอดฝุ่น (Cleaner air shelter) ตามคำแนะนำของกรมอนามัย “กั้น-กรอง-ดัน” กล่าวคือ เป็นห้องที่สามารถ “กั้น” ฝุ่นข้างนอกไม่ให้เข้ามาในห้อง โดยการอุดรอยรั่วของห้อง “กรอง” ฝุ่นในห้องโดยใช้เครื่องกรองอากาศ “ดัน” ฝุ่นออกไปจากห้องโดยการนำอากาศจากข้างนอกห้องที่กรองแล้วเข้ามาในห้อง

ใช้สารชีวภัณฑ์ย่อยสลายแทนเผา

ในภาพใหญ่ของปัญหาฝุ่น กทม. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ใช้สารชีวภัณฑ์ทางการเกษตรย่อยสลายตอซังข้าว ลดการเผา ลด PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย “พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์” ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่สังเกตการณ์ ณ แปลงนาพื้นที่ 3 ไร่ ของนายประเสริฐ ภู่เงิน เกษตรกรในพื้นที่เขตหนองจอก ซึ่งเป็นแปลงนาสาธิตของ กทม. โดยพบว่ามีการเผาในที่โล่งจากภาคการเกษตรในพื้นที่ 3 เขต “หนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบัง”

วิธีการ มีการผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์และน้ำ ฉีดพ่นทั่วบริเวณแปลงนาที่มีตอซังและฟางข้าว จากนั้นใช้รถขลุบย่ำเพื่อให้ตอซังข้าวล้มลงราบกับพื้น และสังเกตการณ์สภาพแปลงนาในระยะเวลา 7 วัน หากตอซังและฟางข้าวย่อยสลาย เกษตรกรสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมดินปลูกได้ตามปกติ

คาดหวังผลว่า หากเกษตรกรในพื้นที่ กทม. นำวิธีการนี้ไปใช้จัดการตอซังและฟางข้าวแทนการเผา จะทำให้สามารถลดปัญหาต้นตอฝุ่นจิ๋วจากภาคการเกษตรได้อย่างเป็นรูปแบบต่อไป