โควิดวันนี้ (15 ม.ค. 67) ป่วยใหม่เข้า รพ.พุ่ง 625 คน ปอดอักเสบ 177 ราย

covid-19-ตรวจ ATK

กรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยโควิด-19 สัปดาห์ล่าสุด สัปดาห์แรกเดือนมกราคม 2567 พบป่วยใหม่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่ม 625 คน เสียชีวิต 7 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 177 คน และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 125 คน

วันที่ 15 มกราคม 2567 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และศูนย์ COVID-19 ของรัฐบาล รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ภายในประเทศ สัปดาห์ล่าสุด สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนมกราคม 2567 ระหว่างวันที่ 1-13 มกราคม 2567 ว่า มีจำนวนผู้ป่วยโควิดรายใหม่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 625 คน หรือเฉลี่ย 89 คน/วัน

ขณะที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่มีจำนวน 7 คน หรือเฉลี่ย 1 คน/วัน

นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยปอดอักเสบ จำนวน 177 คน และผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 125 คน

เกาะติดยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ 7-13 ม.ค. 2567

  • ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 625 ราย
  • ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) 7 ราย
  • ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล สะสม 625 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567)
  • ผู้เสียชีวิต สะสม 7 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567)

ผู้ป่วยโควิดสัปดาห์ที่ 1 มกราคม 2567

วานนี้ (14 ม.ค. 67) ศาสตราจารย์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ออกแถลงการณ์ 8 ข้อ ร่วมต่อสถานการณ์อาการ Long COVID-19 และผลกระทบจากวัคซีน ร่วมกับอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จากวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

โดยทั้ง 2 สถาบันจะลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัยร่วมกับวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิตในวันที่ 15 มกราคม 2567

สำหรับสาระสำคัญของแถลงการณ์ เนื่องจากมีความเห็นร่วมกันว่า ประชาชนชาวไทยและทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะต่อเนื่องหลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือได้รับผลกระทบจากการได้รับวัคซีนในหลายมิติ เป็นผลทำให้มีประชาชนกลุ่มดังกล่าวเสียชีวิต หรือมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอลง หรือส่งผลต่อคุณภาพชีวิตแย่ลง รวมถึงน่าจะมีขบวนการปกปิดข้อมูลและข้อเท็จจริงของผู้ที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตจากวัคซีน ทำให้ตัวเลขการรายงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนต่ำกว่าความเป็นจริง

รวมถึงอาการที่เกิดขึ้นที่ทอดยาวเป็นเวลานานเกินกว่า 3 เดือน หลังจากติดเชื้อโควิดที่เรียกว่าลองโควิด (Long COVID) โดยมีทั้งอาการทางระบบหัวใจและปอด ระบบสมองประสาทและกล้ามเนื้อ ภาวะที่มีการอักเสบของผิวหนัง เส้นเอ็นพังผืด กล้ามเนื้อ ข้อต่าง ๆ ตลอดจนการปะทุขึ้นของโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหรือโรคที่สงบไปแล้ว

ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดการแสวงหาและรวบรวมหนทางในการฟื้นฟูสุขภาพหรือรักษาประชาชนอย่างถูกต้องต่อไป และจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลในฐานะผู้ที่สนับสนุนและรณรงค์การใช้วัคซีนมาโดยตลอด ต้องให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนอย่างเต็มที่และรวดเร็วต่อไปด้วย (อ่านรายละเอียด)