30 บาทรักษาทุกที่ ไขคำตอบ 8 จังหวัดใหม่ เริ่มต้นช่วงไหน

30 บาทรักษาทุกที่ สถานพยาบาล คลินิก
ภาพจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

30 บาทรักษาทุกที่ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว รับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ-สถานพยาบาลเอกชน เพิ่ม 8 จังหวัดใหม่ ไขข้อสงสัย เริ่มต้นช่วงไหน

หลังจากที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ให้คนไทยที่มีสิทธิบัตรทอง สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียว เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ใน 4 จังหวัด คือ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี นราธิวาส ตั้งแต่ 7 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

และล่าสุด สปสช. เพิ่มรายละเอียดการตรวจสอบจังหวัดที่เข้าร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ อีก 8 จังหวัด คือ นครราชสีมา นครสวรรค์ พังงา เพชรบูรณ์ สระแก้ว สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ รวมเป็น 12 จังหวัดแล้ว

คำถามต่อไปที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน 8 จังหวัดใหม่ ที่จะได้ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ คือ จะเริ่มต้นในช่วงไหน

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปรายละเอียดดังนี้

“30 บาทรักษาทุกที่” 8 จังหวัดใหม่ เริ่มช่วงไหน

สปสช. ระบุว่า 8 จังหวัดใหม่ที่จะร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ เฟสที่ 2 ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ พังงา เพชรบูรณ์ สระแก้ว สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ จะเริ่มในเดือนมีนาคม 2567

“30 บาทรักษาทุกที่” 12 จังหวัด มีหน่วยบริการกี่แห่ง ?

สำหรับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ใน 12 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี นราธิวาส นครราชสีมา นครสวรรค์ พังงา เพชรบูรณ์ สระแก้ว สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ มีจำนวนหน่วยบริการที่ร่วมในโครงการนี้ ดังนี้

  • จังหวัดแพร่ พร้อมให้บริการ 64 หน่วยบริการ
  • จังหวัดเพชรบุรี พร้อมให้บริการ 58 หน่วยบริการ
  • จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมให้บริการ 263 หน่วยบริการ
  • จังหวัดนราธิวาส พร้อมให้บริการ 88 หน่วยบริการ
  • จังหวัดนครราชสีมา พร้อมให้บริการ 152 หน่วยบริการ
  • จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมให้บริการ 45 หน่วยบริการ
  • จังหวัดพังงา พร้อมให้บริการ 12 หน่วยบริการ
  • จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมให้บริการ 22 หน่วยบริการ
  • จังหวัดสระแก้ว พร้อมให้บริการ 30 หน่วยบริการ
  • จังหวัดสิงห์บุรี พร้อมให้บริการ 10 หน่วยบริการ
  • จังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมให้บริการ 16 หน่วยบริการ
  • จังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมให้บริการ 18 หน่วยบริการ

ตรวจสอบหน่วยบริการใน 12 จังหวัด อย่างไร ?

การตรวจสอบหน่วยบริการ ที่ร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ของ สปสช. สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของ สปสช. https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-4-provinces และเลือกจังหวัดที่ต้องการตรวจสอบ

1 เดือน “30 บาทรักษาทุกที่” ประชาชนพอใจ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานมอบนโยบายและปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567

โดยกล่าวว่า จากการดำเนินงาน 1 เดือน พบว่าประชาชนพึงพอใจในการรับบริการอย่างมาก เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการส่งยาที่บ้านซึ่งมีถึง 2,288 ครั้ง นัดหมายออนไลน์ 1,693 ครั้ง และทำ Telemedicine 1,388 ครั้ง ส่วนประเด็นที่มีความกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มภาระในโรงพยาบาลใหญ่

จากข้อมูลตั้งแต่เริ่มโครงการ พบว่าผู้มารับบริการโดยไม่ใช้ใบส่งตัวที่โรงพยาบาลจังหวัดทั้ง 4 แห่ง เพิ่มขึ้นประมาณ 3% ซึ่งอยู่ในระดับที่โรงพยาบาลรองรับการให้บริการได้

ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการประสบการณ์การดำเนินงานจาก 4 จังหวัดนำร่อง เพื่อขับเคลื่อนระยะที่สองอีก 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา ในช่วงเดือนมีนาคม 2567 พร้อมกับมีการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับระบบการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยไม่เป็นการเพิ่มภาระงานจนกระทบกับขวัญกำลังใจของบุคลากรผู้ให้บริการ

30 บาทรักษาทุกที่ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ที่ไหนบ้าง ?

คนไทยที่มีสิทธิบัตรทอง เกือบ 50 ล้านคน สามารถเข้ารับการรักษาได้ทั้งในโรงพยาบาลของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้

ร้านยา ให้บริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ โดยปรึกษาเภสัชกรและรับยา สำหรับ 16 กลุ่มอาการ มีดังนี้

    1. ปวดหัว (HEADACHE)
    2. เวียนหัว (Dizziness)
    3. ปวดข้อ (PAIN IN JOINT)
    4. เจ็บกล้ามเนื้อ (MUSCLE PAIN)
    5. ไข้ (FEVER)
    6. ไอ (COUGH)
    7. เจ็บคอ (SORE THROAT)
    8. ปวดท้อง (STOMACHACHE)
    9. ท้องผูก (CONSTIPATION)
    10. ท้องเสีย (DIARRHEA)
    11. ถ่ายปัสสาวะขัด, ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะเจ็บ (DYSURIA)
    12. ตกขาวผิดปกติ (VAGINAL DISCHARGE)
    13. อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน (SKIN RASH/LESION)
    14. บาดแผล (WOUND)
    15. ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตา (EYE DISORDER)
    16. ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหู (EAR DISORDER)

คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 32 อาการ ทำแผล ฝากครรภ์-ตรวจหลังคลอด โดย 32 กลุ่มโรคเบื้องต้นตามขอบเขตวิชาชีพ มีดังนี้

    1. ไข้ตัวร้อน
    2. ไข้และมีผื่นหรือจุด
    3. ไข้จับสั่น
    4. ไอ
    5. ปวดศีรษะ
    6. ปวดเมื่อย
    7. ปวดหลัง
    8. ปวดเอว
    9. ปวดท้อง
    10. ท้องผูก
    11. ท้องเดิน
    12. คลื่นไส้อาเจียน
    13. การอักเสบต่าง ๆ
    14. โลหิตจาง
    15. ดีซ่าน
    16. โรคขาดอาหาร
    17. อาหารเป็นพิษ
    18. โรคพยาธิลำไส้
    19. โรคบิด
    20. โรคไข้หวัด
    21. โรคหัด
    22. โรคสุกใส
    23. โรคคางทูม
    24. โรคไอกรน
    25. โรคผิวหนังเหน็บชา
    26. ปวดฟัน
    27. เหงือกอักเสบ
    28. เจ็บตา
    29. เจ็บหู
    30. โรคติดต่อตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
    31. ภาวะแท้งคุกคามหรือหลังแท้งแล้ว
    32. การให้ภูมิคุ้มกันแก่โรคแก่บุคคลทั่วไป หญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอด ทารกและเด็ก

คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น รับบริการตรวจรักษาโรคแบบผู้ป่วยนอกตามการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรด์

คลินิกการแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา เป็นต้น

คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจวัดระดับไขมันในเลือด ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ตรวจการตั้งครรภ์ ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (อายุ 50-70 ปี) รวมถึงตรวจแล็บตามใบสั่งตรวจของแพทย์ เป็นต้น

โดยสามารถสังเกตสัญลักษณ์ของ สปสช. และเข้ารับบริการจากหน่วยบริการเอกชนได้ทันที และหากมีอาการที่ต้องการรักษาต่อเนื่อง ก็จะได้รับการส่งตัวทันที

ภาพจากรายการ Prachachat BITE SIZE

30 บาทรักษาทุกที่ มีขั้นตอนอย่างไร ?

ขั้นตอนของการใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ เพียงแค่ยื่นบัตรประชาชน สำหรับบุคคลทั่วไป หรือสำหรับเด็กเล็ก ใช้สูติบัตรพร้อมบัตรประชาชนผู้ปกครอง ยื่นที่หน่วยบริการและรับบริการตามขั้นตอนปกติ โดยหากต้องรับยา บางโรงพยาบาลสามารถเลือกรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือส่งยาทางไปรษณีย์ได้

หรือถ้าใครที่อยากนัดหมายล่วงหน้า ไม่อยากไปรอคิวที่สถานพยาบาล สามารถทำได้ผ่านระบบ “หมอพร้อม” ทั้งทางแอปพลิเคชั่นและ Line Official Account รวมถึงทางแอป “เป๋าตัง” เมนู “กระเป๋าสุขภาพ” สำหรับบริการด้านเสริมสร้างสุขภาพ