ผ่าน “วันเมย์เดย์” ตัวเลข ศก.พุ่ง สวนทาง “รายได้แรงงาน”?

ผู้เขียน สัญญา รัตนสร้อย

ผ่านวันแรงงานแห่งชาติไปหมาดๆ ชวนย้อนคิดไปถึงช่วงหลายปีมานี้ เครื่องยนต์เศรษฐกิจ การบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคส่งออก ตกในสภาพติดขัดเครื่องยนต์เดินไม่เต็มสูบ

จะมีก็แต่ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวหลัก

อาการฝืดเฝือที่ว่า ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สภาพจ้างงาน สะท้อนลงไปถึงผู้ใช้แรงงาน เป็นทิศทางเดียวกัน อยู่ยากกันทั่วหน้า

จนเมื่อปีสองปีมานี้ เริ่มมีสัญญาณด้านบวกอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น

Advertisment

ภาคส่งออกกลับมาเติบโตชวนตื่นตาตื่นใจ ทุบสถิติเป็นว่าเล่น

ข้อมูล 3 เดือนแรกของปี

เดือนมกราคม มูลค่าส่งออก 20,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.6% ขยายตัวสูงสุดรอบ 62 เดือน

เดือนกุมภาพันธ์ มูลค่า 20,365.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.3% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12

Advertisment

เดือนมีนาคม มูลค่า 22,363 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ภาคอุตสาหกรรม ตัวชี้วัดของสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมปีนี้ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 กำลังการผลิตเคยต่ำกว่าครึ่งร้อย ขึ้นมาอยู่เกือบร้อยละ 80 สูงสุดในรอบ 60 เดือน

บ่งบอกกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น การลงทุนกำลังกลับมา

หรือตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐ เห็นได้ชัดจากการทุ่มงบประมาณลงไปกับระบบสาธารณูปโภค เม็ดเงินจำนวนมหาศาลลงสู่ภูมิภาค

ปิดท้ายภาคท่องเที่ยว ยังคงจัดอยู่ในทำเนียบพระเอกตลอดกาล

วันที่ภาพรวมเศรษฐกิจมีปัญหา กระทบเป็นลูกระนาดไปถึงผู้ใช้แรง กลุ่มฐานราก

คิดกันแบบเศรษฐศาสตร์ข้างถนน เมื่อภาพรวมฟื้นตัว คนกลุ่มนี้ก็น่าได้รับอานิสงส์ไปด้วย

ความจริงกลับสวนทาง

เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรายงานผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท

พบว่า เงินในกระเป๋าไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบันเกือบร้อยละ 70 ประหยัดค่าใช้จ่ายก็แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำก็เพิ่งปรับขึ้นไป แต่รายได้ไล่ไม่ทันค่าครองชีพ ราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น

พูดถึงภาระหนี้ ผลสำรวจบอกว่าหนี้ครัวเรือนขยับสูงในรอบ 10 ปี

เรากำลังติดกับดักความไม่สมเหตุสมผล ที่ไม่รู้จะหลุดพ้นไปได้เมื่อไหร่

นายกฯประกาศในหลายเวที ต่างกรรม ต่างวาระ จะนำประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เส้นแบ่งนี้ที่สากลยอมรับกันก็คือ การเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 23,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 690,000 บาท หรือต่อเดือนประมาณ 57,000 บาท

เอาจริงอย่างนั้น หมายความว่าจะมีคนกลุ่มเล็กๆ บนยอดพีระมิดมีรายรับสูงลิบลิ่วดึงตัวเลขถัวเฉลี่ย ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังตกเส้นรายได้

ทุกวันนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น

เป้าหมายยกระดับความกินดีอยู่ดี กระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ มันก็ปฏิลูบ ปฏิคลำ นั่นเอง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์