เศรษฐา ประกบดรีมทีมคมนาคม ปลุกลงทุนภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ 17 จังหวัดภาคเหนือ

เศรษฐา

กลางเดือนมีนาคม 2567 นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ขับเคลื่อนทัพหลวงด้านการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้วยการจัดคณะพบปะประชาชนในจังหวัดลำพูน-เชียงใหม่

เป็นการติดตามแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐทางหนึ่ง กับส่งสัญญาณรัฐบาลเดินหน้าลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ 17 ภาคเหนือไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ตรวจเยี่ยมลำพูน-เชียงใหม่

โดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมคณะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่พบปะประชาชนในพื้นที่จังหวัดลําพูน ณ บ้านดอนหลวง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลําพูน และคลองแม่ข่า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในโอกาสนี้ “นายกฯเศรษฐา” กล่าวชื่นชมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดลำพูนว่า เป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถทำให้เป็นเมืองหลักได้อีก 1 จังหวัด การที่ 17 จังหวัดภาคเหนือรวมตัวกันอย่างหนาแน่น ผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานด้วยกันอย่างเข้มแข็งและแข็งแรงทุกคน เชื่อว่าการท่องเที่ยวของจังหวัดภาคเหนือจะรวมตัวกัน และกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นเขตหลักได้”

โดยหนึ่งในไฮไลต์เมกะโปรเจ็กต์รัฐ มีโครงการขยายสนามบินล้านนา ซึ่งตั้งอยู่จังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางมาจากเชียงใหม่ไปลำพูนใช้เวลาไม่นาน สิ่งนี้จะเป็นการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ที่ทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจของภาคเหนือ 17 จังหวัดได้เป็นอย่างดี

รายละเอียดโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา เป็นแผนก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถสนามบินรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคนต่อปี รองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง

เร่งสนามบินแม่ฟ้าหลวง

ถัดมาเป็นโปรแกรมตรวจงานรัว ๆ ของ “รมต.สุริยะ” โดยแวะไปประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญต่าง ๆ มีทั้งการเตรียมความพร้อมและการเพิ่มศักยภาพสนามบินแม่ฟ้าหลวง ตามนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาลในการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

แผนลงทุนสนามบินแม่ฟ้าหลวง ได้แก่ 1.งานก่อสร้างระบบทางขับขนานด้านทิศเหนือและปรับปรุงทางขับท้ายหลุมจอด พร้อมทางขับ A และ B 2.งานจ้างก่อสร้างพื้นที่หัวทางวิ่งด้าน 03 และ 21 3.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน Maintenance, Repair and Overhaul (MRO) อยู่ระหว่างจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA) 4.งานจ้างก่อสร้างขยายถนนทางเข้า-ออกสนามบิน ตามแผนเริ่มก่อสร้างมิถุนายน 2567 นี้

นอกจากนี้ มีโครงการพัฒนาสนามบิน ระยะที่ 1 (2568-2571) รองรับผู้โดยสารเป็น 6 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 2 (2576-2578) รองรับ 8 ล้านคนต่อปี แผนงานสำคัญ ได้แก่ งานก่อสร้างเพิ่มลานจอดอากาศยาน งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และงานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมแซมอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น

รวมทั้งโปรเจ็กต์ตัดถนน-สร้างอุโมงค์ทางลอด เพื่อบรรเทาการจราจรคับคั่งหน้าสนามบิน อาทิ ก่อสร้างทางลอดและปรับปรุงถนนบริเวณแยกศูนย์ราชการบนถนนสาย ชร.1023 อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 1.635 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 850 ล้านบาท, ขอวงเงินเวนคืนสร้างถนนสายแยก ทล.1-สาย ชร.5023 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 3.014 กม., สร้างทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัด ชร.1023 กับ ทล.1 อ.เมือง จ.เชียงราย วงเงิน 409.560 ล้านบาท มีแผนเสนอขอรับงบประมาณค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2569 เป็นต้น

คืบหน้าฮับโลจิสติกส์เชียงของ

สำหรับ “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำทีมตรวจเยี่ยมโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) รองรับและเชื่อมต่อการขนส่งสินค้ากับโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม ที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพประตูการค้าบริเวณด่านพรมแดนเชียงของ และการขนส่งทางถนนบนเส้นทาง R3A ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) และภูมิภาคอาเซียน รองรับการเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก และการรถไฟฯ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) และมีศักยภาพพัฒนาเป็นศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) รองรับการดำเนินพิธีการที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกได้ในจุดเดียว และสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area) รองรับการปฏิบัติหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยและ สปป.ลาวในอนาคต

ความคืบหน้ากระทรวงคมนาคมมีแผนเปิดให้บริการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของเต็มรูปแบบในปี 2568 นี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างระยะที่ 2 และคัดเลือกเอกชน (PPP) ตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

ท่าเรือเชียงแสนบูม 4 ประเทศ

รวมทั้ง “ดร.มนพร เจริญศรี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำทีมผู้บริหารกระทรวงลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ติดตามการพัฒนาด้านคมนาคมทางน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน และความคืบหน้าโครงการขุดลอกต่างตอบแทนพื้นที่ภาคเหนือ โครงการขุดลอกแม่น้ำในประเทศ (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) รวมทั้งร่องน้ำเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การเดินเรือ การอุปโภคบริโภค และเพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตร

โครงการก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือจุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นการพัฒนาท่าเทียบเรือให้มีมาตรฐานและความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนที่เดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรด้วยเรือผ่านจุดผ่านแดนถาวร สามเหลี่ยมทองคำ (สบรวก) มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2567

อีกทั้งลงพื้นที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ประตูการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน 4 ประเทศ “ไทย จีน สปป.ลาว เมียนมา” โดยติดตามการบริหารจัดการท่าเรือ และความคืบหน้าการส่งออกสัตว์มีชีวิต รวมถึงเป็นสถานที่ใช้ลำเลียงปศุสัตว์เพื่อการส่งออก

อัพเดตโครงการสัตว์ส่งออกท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ได้ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว และสามารถดำเนินโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) ในพื้นที่ 1 บริเวณท่าเรือแนวลาดฝั่งทิศใต้ ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

“ปัจจุบันท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนได้ปลดล็อกและดำเนินการตามนโยบายที่ให้ไว้เกี่ยวกับโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า ด่านกักกันสัตว์เชียงราย หน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งทุกหน่วยงานยินดีสนับสนุนการดำเนินการของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน”

โดยคาดการณ์ปริมาณสัตว์ส่งออกสุกร 15,000 ตัว/เดือน หรือ 180,000 ตัว/ปี โค กระบือ 5,000 ตัว/เดือน หรือ 60,000 ตัว/ปี ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 10 ล้านบาท โดยการส่งออกสัตว์มีชีวิตผ่าน ทชส. ต้องปฏิบัติตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ และระเบียบพิธีการของกรมศุลกากรอย่างเคร่งครัด

โดยผู้ประกอบการต้องทำนัดหมายช่วงเวลาในการขนถ่ายสัตว์ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง การล้างสิ่งปฏิกูลและฉีดยาฆ่าเชื้อ การขนย้าย โดยมีที่กั้นที่แข็งแรง ถ่ายเทอากาศได้ดี มีอุปกรณ์ช่วยขนสัตว์ขึ้นลง รวมทั้งการทำความสะอาดจุดขนถ่ายสัตว์ เมื่อดำเนินการขนถ่ายแล้วเสร็จ เป็นต้น