ITD ลามรับเหมารายย่อย แบงก์เบรกปล่อยกู้ลดเสี่ยง

อัพเดตล่าสุด 20 มีนาคม 2567 เวลา 16.46 น.

หวั่นปม “อิตาเลียนไทย” ขาดสภาพคล่อง โดมิโนเอฟเฟ็กต์ ลามกระทบรับเหมารายย่อย แบงก์เบรกปล่อยกู้ ขณะที่กระบวนการแก้ปัญหาต้องรอ “แบงก์กรุงเทพ” เจ้าหนี้รายใหญ่ และเจ้าหนี้ปล่อยกู้ร่วมอีก 3 แบงก์จะ “อุ้มต่อ” หรือไม่ เผยบริษัทแบกหนี้เป็นแสนล้าน แต่รายได้แค่หลักพันล้าน หลัง “เงินจม” ในโครงการทวาย-ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ลุ้นปรับโครงสร้างหนี้-แปลงหนี้เป็นทุน

แหล่งข่าวระดับสูงจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากปัญหาการขาดสภาพคล่องของ ITD ที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากังวล เนื่องจาก ITD มีซัพพลายเชนที่กว้างและใหญ่ และมีปริมาณงานในมือ (Backlog) เป็นหลักแสนล้านบาท

โดยตั้งแต่มีกระแสข่าวออกมาเมื่อช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2566 ธนาคารก็เริ่มหยุดปล่อยกู้ให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อยที่เป็นซัพพลายเชนของ ITD เพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากกังวลว่า หากผู้รับเหมารายย่อยไม่สามารถเก็บเงินจากผู้รับเหมารายใหญ่ได้ หรือ ITD ไม่จ่าย ผู้รับเหมารายย่อยก็ไปต่อไม่ได้ และปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดแรงกระเพื่อมเป็นลูกโซ่ได้ โดยเฉพาะบริษัทวัสดุก่อสร้างที่เป็นเจ้าหนี้ ITD

“เข้าใจว่าช่วงนั้น ITD ต้องซื้อของด้วยเงินสด เพราะเครดิตโฟลว์เริ่มชะงัก จนในที่สุดก็มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ถึงตอนนี้อยู่ที่ว่า 4 แบงก์ใหญ่จะอุ้ม ITD หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วอาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อ Set Zero ตั้งหลักกันใหม่

และอาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างบริษัท ปรับโครงสร้างเงินทุนขนานใหญ่ เพื่อให้บริษัทอยู่รอดได้ในระยะยาว ผู้ถือหุ้นจะต้องใส่เงินเพิ่มทุนอีกมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ตามปกติต่อไปได้ เพราะถ้าค้างคากันไปแบบนี้ ในที่สุดอาจจะต้องเข้ากระบวนการแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งถึงตอนนั้นเจ็บตัวกันหมดทุกคน”

แบงก์กรุงเทพเจ้าหนี้ใหญ่สุด

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับ ITD หลัก ๆ มี 4 แห่ง วงเงินรวม 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ธนาคารกรุงเทพ 8,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท 2.กสิกรไทย 6,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท 3.ไทยพาณิชย์ 6,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท และ 4.กรุงไทย 4,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท

ส่วนการแก้ปัญหาสภาพคล่องของ ITD ขณะนี้ ธนาคารเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ต้องรอดูท่าทีแบงก์กรุงเทพที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด ว่าจะทำอย่างไร โดยปัญหาของ ITD มีข้อเรื่องหลัก ๆ ก็คือ 1.เงินลงทุนไปจมอยู่ในโครงการทวาย และ 2.มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ และตอนนี้กระแสรายได้ของ ITD มีหลักพันล้านบาท แต่มีหนี้เป็นแสนล้านบาท ซึ่งหนี้ดังกล่าวจะแบ่งชำระตามกรอบเวลาที่ทยอยครบดีล โดยทางเลือกในการแก้ปัญหาอาจจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ หรือแปลงหนี้เป็นทุน

ผิดนัดชำระหนี้หวั่นไหลเป็น NPL

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ITD อีกรายหนึ่งให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้หนี้ของ ITD เป็นสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือ Stage2 ซึ่งสุดท้ายจะไหลไปเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ดังนั้น คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาแบงก์ได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไปจำนวนหนึ่งในไตรมาสที่ 4/2566 ที่ผ่านมา และในไตรมาสที่ 1/2567 นี้ อาจจะต้องพิจารณาอีกครั้ง โดยการปล่อยกู้ให้ ITD เป็นการปล่อยสินเชื่อร่วม หรือ Syndicated Loan เวลามีปัญหา ปกติแล้วก็จะต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่างแบงก์เจ้าหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีการพูดคุยกันต่อเนื่อง

“ตอนนี้เรายังไม่สามารถมองว่าปัญหาเป็นระยะสั้น หรือระยะยาว ทำให้สมมุติฐาน (Scenario) สามารถออกมาได้หลายแบบ และต้องพิจารณาให้ครบทุกมิติ และยังตอบไม่ได้จะถึงขั้นต้องเข้าสู่กระบวนการขอฟื้นฟูกิจการหรือไม่”

ขายทรัพย์สินทางออกเร็วที่สุด

แหล่งข่าวนักวิเคราะห์หุ้น ITD กล่าวว่า ทางออกเคส ITD มีหลาย Scenario ด้วยกัน โดย Scenario ที่น่าจะทำให้แก้ปัญหาสภาพคล่องได้อย่างรวดเร็วที่สุดคือ การขายทรัพย์สินบางอย่างออกไป เพื่อให้มีเงินสภาพคล่องเข้ามา และสามารนำไปชำระหนี้ได้ทันทีด้วย โดยจากงบการเงินปี 2566 สิ้นสุดงวดไตรมาส 3 (ไตรมาส 4/2566 ยังไม่ได้ส่งงบการเงิน) มีรายการกำไรจากการขายทรัพย์สินเกิดขึ้นทุกไตรมาส (รวม 9 เดือน ปี 2566) คิดเป็นมูลค่ากว่าพันล้านบาท แสดงถึง ITD มีความพยายามในการขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้งานออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่คงไม่พอ

อย่างไรก็ตาม ITD ยังมีสินทรัพย์ใหญ่ที่อยู่ในงบการเงิน คือรายการสิทธิในเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่ได้ประทานบัตรมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 คิดเป็นมูลค่า 5,281 ล้านบาท โดย ITD ถือหุ้นในสัดส่วน 90% โดยเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ผู้บริหาร ITD มีแผนจะขายเหมืองแร่โปแตชในราคา 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท

ซึ่งคงต้องติดตามว่าการขายจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือน้ำลึกและทางรถไฟที่โมซัมบิก มูลค่าทางบัญชีประมาณ 2,679 ล้านบาท ซึ่งมีกระแสข่าวว่าอยู่ระหว่างการหาผู้สนใจร่วมลงทุน หรืออาจจะมีการขายเงินลงทุนออกไป ซึ่งประเมินยากว่าดีลนี้จะจบเมื่อไหร่

“แน่นอนว่า ITD คงไม่ขายในราคาทุน เพราะกว่าจะพัฒนามาถึงจุดนี้และกว่าจะขอประทานบัตรได้จะมีค่าพรีเมียมอยู่ โดยจากข้อมูลหุ้นโปแตชในต่างประเทศซื้อขายกันอยู่ที่ 3-6 เท่า ของมูลค่าทางบัญชี (book value) ซึ่งคงต้องติดตามว่าการขายจะได้ตามราคานั้นหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหน รวมถึงจะขายพอร์ตทั้งหมดเลยหรือเปล่า แต่แน่นอนว่านาทีนี้ยิ่ง ITD มีปัญหา อยู่ในภาวะลำบาก ผู้ซื้อเองก็คงมีอำนาจต่อรองสูงมาก ซึ่งอาจจะมีการกดราคาพอสมควร”

นอกจากนี้หากพิจารณาสินทรัพย์อื่นที่จะแปรมาเป็นเงินได้ เช่น ลูกหนี้การค้า หรือสินทรัพย์ที่เกิดจากสัญญา (งานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) ซึ่งพวกนี้จะมีการส่งมอบงานตามกำหนดเวลา เช่น การวางบิลกับเจ้าของหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ก็คงต้องเร่งรัดกระบวนการตรงนี้ แต่ต้องดูด้วยว่าไซซ์งานก่อสร้างที่ ITD ทำอยู่ มีประเด็นติดขัดอะไรหรือไม่ เช่น คนงานบางไซซ์หยุดงาน เพราะไม่จ่ายค่าแรง การส่งมอบงานอาจจะมีผลกระทบในบางไซซ์งาน ดังนั้นการเก็บเงินในบางงานอาจจะมีปัญหาอยู่เหมือนกัน ซึ่งคงขึ้นอยู่กับการบริหารของ ITD

ดอกเบี้ยจ่ายปีละ 800 ล้าน

แหล่งข่าวรายนี้กล่าวว่า ถ้ารวมเงินลงทุนในโครงการเหมืองแร่โปแตซ ท่าเรือน้ำลึกและทางรถไฟที่โมซัมบิก และทวายที่เมียนมา มูลค่าประมาณ 7,863 ล้านบาท เท่ากับว่า 3-4 โครงการใหญ่ ๆ ใช้เงินลงทุนรวมกันไปราว 16,000 ล้านบาท

และทำให้ ITD มีต้นทุนทางการเงิน 5% โดย ITD ไฟแนนซ์โครงการวงเงินรวม 16,000 ล้านบาท มีดอกเบี้ยเกิดขึ้นปีละ 800 ล้านบาท โดยยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทนจากโครงการเหล่านี้คืนมาได้ จึงเป็นภาระที่ ITD ต้องแบกรับมาก

ขณะที่ธุรกิจก่อสร้างของ ITD แม้จะไม่ถึงกับแย่มาก แต่ก็ไม่ได้ดี โดยมีรายได้ก่อสร้างค่อนข้างสม่ำเสมอ ปีละประมาณ 60,000 ล้านบาท ในอดีตมีอัตรากำไรขั้นต้นใกล้ ๆ ระดับ 10% หรือมีกำไรขั้นต้นจากธุรกิจก่อสร้างประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งถูกใช้ไปสำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมถึงภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงในแต่ละปี หรือประมาณปีละ 6,000 ล้านบาท แสดงว่าในภาวะปกติก็พอจะบริหารกันไปได้ ไม่ได้มีผลอะไร เพียงแต่ไม่ค่อยมีกำไรเหลือให้กับผู้ถือหุ้น

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยลบเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโควิด ความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ภาวะการแข่งขันราคาค่อนข้างรุนแรง หลายไซต์งานมีอุปสรรค การส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามกำหนด ก็ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นธุรกิจก่อสร้างจาก 10% เหลือแค่ 6-7% ขณะที่มีภาระค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารคงที่ และภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ ITD ขาดทุนติดต่อกันมาในช่วงหลายไตรมาส”

ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว ITD อาจจะต้องมองในแง่โครงสร้างจากที่มีภาระค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูง และอาจจะต้องขายทรัพย์สินออกไปเพื่อลดภาระดอกเบี้ย ในขณะที่ธุรกิจก่อสร้างที่เป็นธุรกิจหลัก คงต้องไปหาวิธีทำให้มาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้นจากปัจจุบัน รวมถึงต้องปรับกลยุทธ์การรับงาน อาจจะต้องทำให้บริษัทกระชับขึ้น เนื่องจากตอนนี้ ITD มีบริษัทลูกค่อนข้างมาก ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง และจะต้องมีการปรับกลยุทธ์รับงานใหม่ในอนาคต

หนี้สินต่อทุนพุ่ง

“ตอนนี้ ITD ต้องมองเรื่องการจัดการภาระหนี้เป็นหลัก การจะฟื้นฟูกิจการหรือไม่ฟื้นฟู จะอยู่ที่เรื่องของความสามารถในการชำระหนี้เป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันงบการเงินปี 2566 ยังไม่ออก แต่จากการประเมินงบฯไตรมาส 3/2566 ก็เห็นความน่ากังวลอยู่ เนื่องจากมีภาระหนี้สินต่อทุน (D/E) ถือว่าสูงมาก อยู่ที่ 9 เท่า และถ้าพิจารณาจากหนี้สินสิทธิ (Net Gearing) จะอยู่ที่ 3.6 เท่า ซึ่งกรณี ITD ที่เกิดขึ้น จะเห็นชัดว่ามีผลกระทบไม่เพียงแต่ผู้ถือหุ้นกู้ แต่มีผลกระทบไปถึงคนงาน ซัพพลายเออร์ ซับคอนแทร็กเตอร์ ซึ่งซัพพลายเออร์ และซับคอนแทร็กเตอร์ไม่ได้ทำงานให้ ITD เจ้าเดียว ทำให้เจ้าอื่นด้วย จึงเกรงว่าอาจจะกระทบเป็นลูกโซ่”

ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมา ITD ได้มีการขอมติผู้ถือหุ้นกู้ในการเปลี่ยนวิธีคำนวณ Net Gearing ใหม่ โดยจะไม่รวมหนี้บางก้อน ทำให้ Net Gearing จะลดลงเหลือประมาณ 3 เท่า แต่แม้จะผ่อนปรนจากเกณฑ์นี้แต่ Net Gearing ถือว่าก็ยังสูงกว่า CK และ STEC ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามล่าสุดมติผู้ถือหุ้นกู้ ITD ในการขอขยายการชำระหนี้หุ้นกู้ออกไปอีก 2 ปี โดยได้มีการขอยกเว้นไม่ดู Ratio เหล่านี้ในช่วง 2 ปีนี้ด้วย เพราะเป็นช่วงไม่ปกติของบริษัทฯ