อย.ขีดเส้น ตรวจอาหารเสริม-เครื่องสำอาง แนะถ้าบอกเห็นผลใน 3-7วัน ให้สงสัยหลอกลวง!

อย. ขีดเส้นจบในเดือนกันยายน ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอางครบทุกไลน์การผลิต จาก 7 แสนรายการ เชื่อเหลือผลิตภัณฑ์คุณภาพในท้องตลาดน้อยลงกว่าเดิม แนะหากพบว่า การโฆษณาเห็นผล 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน ให้สงสัยหลอกลวงผู้บริโภค

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)กล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารสุข เตรียมออกประกาศ ในเดือนมิถุนายน เพื่อเข้าไปตรวจสุขลักษณะของสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง และอาหารเสริม ให้เสร็จภายในช่วงประมาณเดือนกันยายนนี้ ทุกผลิตภัณฑ์ที่มีการออกเลข อย. จะต้องได้รับการตรวจสอบทั้งหมด หากเลขอย.ใดมีการเลิกผลิตแล้วก็ขอให้ไปแจ้งยกเลิก ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เบื้องต้นจะได้ รวบรวม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 600,000 ผลิตภัณฑ์ ,ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 40,000 รายการ มาตรวจสอบผ่าน http://porta.fda.moph.go.th/ เพื่อดูว่า ยังคงมีการผลิตอยู่จริงหรือไม่ และมีสถานที่ผลิต ผู้ผลิตจริงหรือไม่ หากมีอยู่ ก็เตรียมเข้าไปตรวจสอบโรงงานเพื่อดูมาตรฐานการผลิต ว่าถูกต้องหรือไม่ สำแดงสูตร และกระบวนการผลิตตรงกันหรือไม่ เพราะบางผลิตภัณฑ์เมื่อผ่านการตรวจสอบจา กอย.ในครั้งแรก ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการผลิต หรือบางรายก็เลิกกระบวนการผลิตแล้ว เชื่อว่า จากนี้ ตัวเลข ของกลุ่มเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ยังเหลืออยู่ในท้องตลาดอย่างแท้จริงจะลดลงไปอีกมาก

นพ.พูลลาภ กล่าวว่า ในการกระบวนการตรวจสอบเลขอย. สามารถพบได้ทั้งข้อมูลที่ถูกต้อง และข้อมูลเท็จ คือ เมื่อคีย์เลข อย. ไม่ปรากฎทั้งขื่อผลิตภัณฑ์ ที่ขออนุญาต สถานที่ผลิต แสดงว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็อาจพบการสวมเลขอย.ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นเข้ามาแทน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าผลิตภัณฑ์นี้มีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ก็จะแจ้งให้สำนักงานสาธารณสุข เร่งตรวจสอบนำออกจากท้องตลาด ไม่ให้หลงเหลือหลอกลวงผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็จะตรวจสอบหาสถานที่ลักลอบผลิตเพื่อดำเนินคดีต่อไป อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเลข อย. จะมีอายุ และกำหนดให้มีการต่ออายุ เพื่อมาขึ้นทะเบียน และตรวจสอบสถานที่ผลิต ,คุณภาพมาตรฐาน , เหมือนเช่นในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่ขณะนี้ เลขอย มีอายุแค่ 3 ปี ต้องมีการต่อทะเบียน และตรวจสอบโรงงานทุกครั้ง

นพ.พูลลาภ กล่าวว่า ขณะเดียวกันการตรวจสอบผลิตภัณฑ์จะครอบคลุมไปถึง การตรวจสอบโฆษณาด้วย หากพบมีข้อความ แสดงถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เห็นผล 3 วัน ,5 วัน , 7 วัน ขอให้ผู้บริโภคคิดพิจารณาว่า อาจไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย เพราะแม้ได้รับการขออนุญาตอย่างถูกต้อง แต่อาจมีการเติมสารอันตราย ต่อสุขภาพร่างกายด้วย ส่วนจังหวัดที่คาดว่า จะต้องมีการตรวจสอบมากและใช้ระยะเวลาพอสมควร ต้องมีเจ้าหน้าที่ส่วนกลางช่วย คงไม่พ้น จังหวัดปริมณฑล ที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรม และโรงงาน อาทิ พระนครศรีอยุธยา ,นครปฐม ,สมุทรปราการ ,ปทุมธานี เป็นต้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์