“โรงเรียนอนาคต” โปรเจ็กต์ใหม่ของธรรมศาสตร์ สร้างผู้นำรุ่นใหม่รับมือความเปลี่ยนแปลง

โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนเร็วจนเราวิ่งตามไม่ทัน… บางอย่างที่เราเรียนรู้วันนี้ พรุ่งนี้ก็เป็นอดีตที่อาจจะใช้การไม่ได้

เพราะตระหนักว่าโลกดิจิตัลเปลี่ยนแรงและเร็ว สังคมโลกเชื่อมโยงกันผ่านเทคโนโลยี การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่คาดการณ์ยาก สังคมไทยจะก้าวต่อไปอย่างประสบความสำเร็จได้ต้องมีผู้นำรุ่นใหม่ที่พร้อมจัดการกับโลกแห่งความไม่แน่นอนในอนาคต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ บริษัท ดิวันโอวัน เปอร์เซ็นต์ ผุดไอเดีย “โรงเรียนอนาคต” หรือ School of Tomorrow เพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่พร้อมด้วยความรู้และทักษะในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย แตกต่างจากการเรียนแบบเดิมที่เคยเรียน

โรงเรียนอนาคต คือการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปแลงรุ่นใหม่ มุ่งเน้นฝึกฝนทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะให้เยาวชน เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ร่วมสร้างอนาคตสังคมไทยให้ดีขึ้น กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนชั้น ม.6 และนักศึกษามหาวิทยาลัย จากหลากหลายสาขาวิชาที่มีความคิดและมีผลงานโดดเด่นมารวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 32 คน มาใช้ชีวิตและเรียนรู้ร่วมกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีวิทยากรระดับประเทศจากหลายวงการกว่า 50 คนมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงโรงเรียนอนาคตว่า โรงเรียนอนาคตจะทำหน้าที่เสมือนแปลงต้นกล้าที่จะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ผู้นำรุ่นใหม่ในตัวของเยาวชน ผ่านประสบการณ์เรียนรู้รูปแบบใหม่ที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล และปลูกฝังวิธีคิดที่จะติดตัวไปในอนาคต รวมถึงจะมีโครงงานเข้มข้นที่จะช่วยเยาวชนให้ดึงศักยภาพในตัวออกมาให้เบ่งบานและงอกงาม เพื่อเป็นเครือข่ายขุมพลังการขับคลื่อนสังคมไทยและนานาชาติในอนาคต

“ในแต่ละรุ่นเราจะสร้างเขาให้เข้ามารวมกลุ่มกัน ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักคิด นักเขียน นักวิชาการหลายท่าน เพื่อจับกลุ่มระดมความคิดกันและไปต่อยอดองค์ความคิดจากความรู้ที่เขาสร้างกันเอง แล้วจะต้องทำโปรเจ็กต์กลุ่มขึ้นมาเพื่อเสนอว่า เขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยหรือนานาชาติอย่างไร”

รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ลักษณะสำคัญของอนาคตคือความไม่แน่นอน เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อยังไม่ชัดเจนว่าโลกอนาคตจะเป็นอย่างไร การสร้างคนเพื่อรับมือกับโลกอนาคตไม่อาจใช้วิธีการเดิม ๆ ได้อีกต่อไป ดังนั้น 3 ทักษะสำคัญ “คิด วิเคราะห์ ค้น” คือสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งใน DNA ของคนรุ่นใหม่ เพราะถ้ามี 3 ทักษะนี้ เขาจะสามารถปรับตัวรับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเจอได้

สำหรับรายละเอียดของโครงการนั้น ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดิวันโอวัน เปอร์เซ็นต์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนอนาคตเปิดรับสมัครทางเว็บไซต์ของดิวันโอวัน เปอร์เซ็นต์ และเว็บไซต์ขององค์กรที่ร่วมจัดโครงการ เกณฑ์การคัดเลือกปีนี้เป็นคอนเซปต์ “โลกที่เปลี่ยนแปลงกับผลกระทบต่อประเทศไทย” ซึ่งโครงการอยากให้เยาวชนเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกและนำการเปลี่ยนแปลงของโลกมามองสะท้อนว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนแปลงอย่างไร ควรเดินไปทางไหนบ้าง ผู้สมัครจะต้องส่งผลงานที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของเมืองไทยในรูปแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานวิจัย งานศิลป์ ก็ได้ไม่จำกัด โดยจะมีกรรมการจากองค์กรที่ร่วมจัดทั้ง 5 องค์กรมาร่วมคัดเลือกผลงาน หลังจากเปิดรับสมัครก็มีนักศึกษาส่งผลงานมากพอสมควร

โครงการนี้ตั้งใจจะทำในทุกปิดการศึกษาภาคฤดูร้อน เพราะต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนอย่างทั่วถึง การเรียนการสอนจะไม่มีการบรรยายเหมือนการสอนทั่วไป แต่จะให้นักศึกษากินนอนอยู่กับทางโรงเรียน 2 สัปดาห์เต็ม ช่วงเวลาการเรียนตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. ทุกวัน มีทั้งชั่วโมงเรียนวิชาการโดยการตั้งโจทย์จากประเด็นต่าง ๆ ที่กำหนดให้ มีนักวิชาการที่ถนัดในเรื่องนั้น ๆ มาชวนคุยชวนคิด แลกเปลี่ยน พูดคุย ถกเถียงกัน เช่น คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคาร เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน), ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ส่วนช่วงบ่ายจะมีการเวิร์คช็อปฝึกทักษะ และช่วงเย็นจะมีการพูดคุย-สนทนาอย่างไม่เป็นทางการ (Dinner Talk) โดยให้เป็นการพูดคุยแบบกันเองระหว่างวิทยากรและนักศึกษา

ด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า โครงการนี้กำเนิดขึ้นโดยวางอยู่บนฐานความเชื่อ 3 ประการ ประการแรกเชื่อว่า สังคมมีความหวังและความหวังนั้นอยู่ที่คนรุ่นใหม่ ประการถัดมา เชื่อว่าความหลากหลายคือพลัง มันจะเกิดพลังมากขึ้นเมื่อแต่ละคนไม่ได้รู้เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ประการสุดท้าย คือ การสร้างเครือข่าย เพราะลำพังตัวคนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ โครงการอยากให้คนรุ่นใหม่ในแต่ละสาขามาเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อจบจากโรงเรียนนี้อยากให้เขาสานต่อความสัมพันธ์และเป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลงที่จะขยายองค์ความรู้และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโรงเรียนไปสู่สังคมในวงกว้าง

“คนรุ่นใหม่ควรจะคิดถึงตัวเองไม่ใช่ในฐานะพลเมืองของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เป็นพลเมืองของประเทศและโลกใบนี้ เราจะมีคนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีภาวะผู้นำที่สามารถสร้างอนาคตที่ดีต่อไปได้” ดร.ประจักษ์ปิดท้ายอย่างมีความหวัง