สงขลาเร่งแก้ปัญหาดินยุบตัวบริเวณแนววางท่อส่งก๊าซ

รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลาแจ้งความคืบหน้ากรณีต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ม.2 บ้านทุ่งฆ้อ ต.นาหม่อม อ.นาหม่อม ร้องเรียนมายังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา ว่า ได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะถนนตามแนวเสาไฟฟ้าแรงสูงเพื่อวางแนวท่อส่งก๊าซ ไทย-มาเลเซีย โดยมีดินเหลวคล้ายโคลนไหลไปอุดบ่อน้ำตื้นของชาวบ้าน จนทำให้ไม่สามารถใช้การได้ รวมถึงทำให้บ้านร้าวและทรุดตัว ประมาณ 10 หลังคาเรือน ซึ่งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลาได้ประสานให้ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคใต้ ร่วมกับบริษัทเอกชนซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซียฯ (ประเทศไทย)จำกัดผู้ดำเนินการโครงการท่อก๊าซฯไทย-มาเลเซีย แต่ไม่ได้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา

ล่าสุดวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอนาหม่อม นายปัญญา จินดาวงศ์ นายอำเภอนาหม่อม ได้เป็นประธานในการประชุม เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมี นายรุ่งโรจน์ และสุบ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา ผู้แทน บจ.ทรานส์ไทย – มาเลเซีย (ประเทศไทย) รศ.ดร.ดนุพล ตันนโยภาส ผู้แทนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ. ผู้แทนศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มอ. และผู้ร้อง ได้ร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการตรวจสอบการทรุดตัวของชั้นดิน และการตรวจหาสารเบนโทไนต์ เนื่องจากผลการตรวจสอบข้างต้น ยังหาข้อสรุปไม่ได้ถึงสาเหตุของการทรุดตัวของชั้นดิน รวมถึงการรั่วซึมของสารเบนโทไนต์ เพื่อให้สามารถสร้างความกระจ่างชัดในประเด็นดังกล่าวโดยใช้เวลาในการประชุมนานประมาณ 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ

นายปัญญากล่าวว่า ข้อสรุปในที่ประชุมนั้น ได้ให้ตัวแทนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.เข้าพื้นที่ตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการทรุดตัวของชั้นดิน เนื่องจากบริเวณข้างเคียงไม่มีข้อมูลการทรุดตัวของชั้นดิน จึงไม่สามารถที่จะสุ่มตรวจได้ แต่คณะวิศวะกรรมศาสตร์ จะให้คำแนะนำทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การปลูกสร้างและรูปแบบการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม การบริหารจัดการบ่อที่มีการทรุดตัว การพิจารณาแหล่งน้ำ เป็นต้น โดยจะใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายใน 1 เดือน นอกจากนั้นศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ตรวจสอบการรั่วซึมของสารเบนโทไนต์จากการวางแนวท่อส่งก๊าซ ซึ่งสามารถดำเนินการทดสอบสารเบนโทไนต์โดยใช้เครื่อง X-Ray Diffractometer (XRD) ซึ่งได้เก็บตัวอย่างดินในบ่อของผู้ร้อง และตัวอย่างสารเบนโทไนต์ของบริษัททีทีเอ็มฯ จะใช้ระยะเวลาในการทดสอบประมาณ 10 วัน โดยทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา จะได้ติดตามผลการตรวจสอบดังกล่าว และนัดชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้ร้อง ภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์