งานหนังสือตุลา 61 ชูแนวคิด “อ่านออกเสียง” กับ 3 นิทรรศการดึงนักอ่าน ตั้งเป้า 2 ล้านคน

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ประกาศความพร้อมจัดมหกรรมหนังสือระดับชาติ ที่จัดต่อเนื่องมาถึงปีนี้เป็นครั้งที่ 23 ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นพร้อมกันกับเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนครั้งที่ 12 ในระหว่างวันที่ 17-28 ตุลาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อให้งานในครั้งนี้เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย

งานครั้งนี้จัดภายใต้แนวคิด “อ่านออกเสียง” ที่จะสะท้อนความคิดและปลูกฝังองค์ความรู้ตั้งแต่เด็ก ในการสร้างการจดจำเนื้อหาผ่านการสื่อสารทางเสียงให้เกิดประสิทธิภาพทางความรู้ต่อไปเมื่อเติบโตเป็นเยาวชนและเป็นผู้ใหญ่ในภายภาคหน้า

ในงานจะมีหนังสือมากมายหลายหมวดมากกว่า 1,000,000 เล่ม จากสำนักพิมพ์ 376 ราย กว่า 931 บูธ บนพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งมีเวทีเสวนา นิทรรศการและกิจกรรมในงานมากมาย

นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 ถือเป็นงานที่หลายคนรอคอย ซึ่งปีนี้ได้จัดงานพร้อมกันกับ เทศกาลหนังสือและเยาวชน ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “อ่านออกเสียง” เพื่อต้องการให้ความรู้เกี่ยวกับการอ่านกับทุกเพศทุกวัย เพราะการอ่านออกเสียงเป็นการสะท้อนแนวคิดการเรียนของเด็กที่เกิดจากการฟังและอ่านออกเสียงตั้งแต่เด็ก ทำให้มีสมาธิ อีกทั้งการอ่านหนังสือยังทำให้รู้เท่าทันเหตุการณ์

ทั้งยังจัดนิทรรศการ กิจกรรม และบูธที่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชนในโซนต่าง ๆ เพื่อฝึกฝนเด็ก ทางด้านทักษะการเรียนรู้ มีความชอบความถนัดทางใหนผู้ปกครองจะได้สนับสนุนได้เต็มที่ และตั้งเป้าหมายว่า การจัดงานพร้อมกันทั้ง 2 งานจะทำให้มีผู้สนใจมาร่วมงาน 2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีผู้เข้าร่วมงาน 1.8 ล้านคน

ในมหกรรมหนังสือครั้งนี้ จะมีนิทรรศการหลัก 3 นิทรรศการ ได้แก่

1.นิทรรศการหนังสือสาบสูญ 3018 นิทรรศการนี้มีกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่น เป็นนิทรรศการที่เล่าถึงโลกอนาคตที่หนังสือหายสาบสูญไป ไอเดียนิทรรศการนี้เริ่มมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า หนังสือ 99.5% สูญสลายหายไปตามกาลเวลา มีเพียงส่วนที่เหลือไม่ถึง 1% ที่จะคงอยู่ต่อไป นิทรรศการนี้จะจำลองห้องเก็บข้อมูลในยามที่ไม่มีหนังสืออยู่อีกแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือประวัติศาสตร์ บันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในโลกหนังสือและการอ่านที่เปลี่ยนแปลงตลอดมา เป็นการย้ำว่า ผู้อ่านมีส่วนตัดสินชี้ขาดความเป็นไปของหนังสือและงานเขียนอย่างไร

2.นิทรรศการ WONDER LAND ดินแดนค้นพบตัวตน เป็นดินแดนสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี เพื่อให้เด็กเกิดความชื่นชอบและสนใจกับการทำกิจกรรม โดยมีโซนกิจกรรม 10 ฐาน ที่ทั้งสนุกและสร้างการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน นิทรรศการนี้ยังสร้างการมีส่วนร่วมในครอบครัวด้วย เพราะกำหนดว่าต้องมีพ่อ แม่ผู้ปกครอง เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็กด้วย

3.นิทรรศการการท่องโลกมหัศจรรย์ของ HOSODA MAMORU… จากฝันสู่แผ่นฟิล์ม เป็นนิทรรศการระดับโลกที่ผ่านการจัดแสดงทั้งใน กรุงปารีส เซี่ยงไฮ้ โตเกียว ไทเป ส่งตรงมาที่งานมหกรรมหนังสือครั้งนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าชม โดยจะนำผลงานภาพสเก็ตช์และสตอรี่บอร์ดของจริงของ HOSODA MAMORU (โฮโซดะ มาโมรุ) ผู้กำกับภาพยนตร์อะนิเมะชื่อดังมาจัดแสดง ซึ่งผลงานที่นำมาจัดแสดงล้วนเป็นภาพยนตร์ที่เคยฉายในไทย เป็นนิยายและหนังสือการ์ตูนที่ได้รับการตีพิมพ์ในฉบับภาษาไทย

ด้านเวทีเสวนาหรือเวทีเอเทรียมก็เป็นอีกกิจกรรมที่ถูกจับตามองทุกปี งานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษให้กับโครงการหนึ่งอ่านล้านตื่น ในหัวข้อ “การอ่านสร้างนวัตกรรม” ในวันที่ 21 ตุลาคม เวลา 11.00 น. และอีกหนึ่งรายการสำคัญคือการเสวนา “เสียงที่ไม่ (เคย) ได้ยิน” จัดขึ้น 2 วัน ในวันที่ 18 และ 19 ตุลาคม เวลา 17.00-19.00 น.

นอกจากนี้ยังมีเสวนาและการเปิดตัวหนังสือใหม่จากผู้มีชื่อเสียงหลายด้าน เช่น ท่าน ว วชิรเมธี, ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ, ดร.มีชัย วีระไวทยะ, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) ที่มากับ อาเลย์ดา เกวารา บุตรสาวคนโตของเช เกวารา บินตรงมาจากคิวบาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

ส่วนของสะสมในครั้งนี้ ความพิเศษศุดอยู่ที่โปสการ์ด “อ่านออกสียง” ลิมิเต็ด อิดิชั่น ที่เป็นการผนึกลายเส้นครั้งสำคัญของ 17 นักวาดชั้นนำและสำนักพิมพ์ชื่อดัง ทั้ง Art Jeeno/ Eat all day/ Jaytherabbit/ Sisidea/ คิ้วต่ำ/ เดอะดวง/ ตัวกลม/ ปังปอนด์/ มะม่วง/ มุนิน/ หนูหิ่น/ หัวแตงโม/ สำนักพิมพ์แจ่มใส/ สำนักพิมพ์นาบู/ สำนักพิมพ์พราว/ สำนักพิมพ์พูนิก้า และสำนักพิมพ์อี.คิว.พลัส แจกฟรี