สนทช.เดินหน้าแก้ปัญหาภัยแล้งเร่งศึกษาความเหมาะสม-วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สนทช.เดินหน้าแก้ปัญหาภัยแล้งเร่งศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มาช่วยปีละกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการต่างๆ หวังให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่

วันนี้ 18 ต.ค.61 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ที่ห้องประชุมโรงแรมราชศุภมิตร

จากนั้นเดินทางไปยังเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ เพื่อรับฟังการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนฯ ต่อจากนั้นเดินทางไปดูงานแนวผันน้ำทางเลือกที่ 5 จุดก่อสร้างปากอุโมงค์ผันน้ำ บริเวณบ้านพักรับรองของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

โดย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนทช.ได้ดำเนิน “โครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี” ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาภัยแล้งที่เหมาะสมในพื้นที่อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวประสบกับปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำมาอย่างยาวนาน จนถึงขั้นไม่มีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งสูงจนถูกขนานนามว่า “อีสานแห่งกาญจนบุรี” นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียง ตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานของราษฎร โดยการส่งเสริมให้ราษฎรในท้องถิ่นมีอาชีพเกษตรกรรมที่มั่นคง

สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ดังกล่าว จะมีพื้นที่การศึกษาครอบคลุมพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และพื้นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการโครงการ ในเขต 5 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา อำเภอเลาขวัญ อำเภอหนองปรือ และอำเภอพนมทวน และพื้นที่เกี่ยวเนื่องอีก 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี รวมพื้นที่ศึกษา 7,270 ตารางกิโลเมตร การศึกษาในครั้งนี้จะมีการจัดทำรายงานแนวทางในการพัฒนาโครงการ รายงานความเหมาะสมในการผันน้ำ พร้อมกำหนดทางเลือกในการผันน้ำที่เหมาะสมในเบื้องต้น รายงานการบริหารจัดการลุ่มน้ำแม่กลองและลุ่มน้ำใกล้เคียงให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตลอดจนจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) และที่สำคัญจะต้องดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ราษฎรที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางในขั้นตอนต่างๆ ของการศึกษา

เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อว่า ในการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรีดังกล่าว กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในลำน้ำห้วยตะเพินโดยเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลําตะเพินเดิม และสร้างอ่างเก็บน้ำลําตะเพินตอนบนให้มีระดับน้ำให้สูงขึ้นเพียงพอที่จะผันข้ามมาช่วยยังพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้ แต่ปริมาณน้ำที่ผันมาช่วยเหลือสามารถบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากสามารถผันน้ำมาช่วยในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ประกอบกับปริมาณน้ำในห้วยตะเพิน ซึ่งเป็นลำน้ำที่สำคัญในพื้นที่ ยังมีปริมาณน้ำที่แตกต่างกันมากแต่ละปี ถ้าหากปีใดน้ำในห้วยตะเพินน้อยจะไม่สามารถผันมาช่วยเหลือพื้นที่อื่นๆ ได้เลย ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สทนช. จึงได้วางแผนที่จะผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก มาช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว ควบคู่กับการดำเนินโครงการต่างๆ

ทั้งนี้ แผนงานในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งของหน่วยงานต่างๆ ในเขตอำเภอหนองปรือ บ่อพลอย เลาขวัญ ห้วยกระเจา และพนมทวน มีโครงการหลักๆ 4 โครงการคือ 1.โครงการอ่างเก็บน้ำลําตะเพินบนและระบบผันน้ำ จังหวัดสุพรรณบุรี-กาญจนบุรี โดยจะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำลําตะเพินบน ความจุ 18.47 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีระบบท่อส่งน้ำ ความยาวรวม 154 กิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์รวม 42,370 ไร่ พื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 18,100 ไร่ 2.โครงการผันนํ้าจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปช่วยเหลือพื้นที่แห้งแล้งในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโครงการก่อสร้างระบบผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปช่วยเหลือพื้นที่แห้งแล้ง ประมาณ 200,000 ไร่ ปริมาณน้ำที่ผันได้ประมาณ 300 – 500 ล้าน ลบ.ม./ปี 3.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและเล็ก จังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ/ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบนํ้า ที่มีศักยภาพในพื้นที่ จำนวน 48 โครงการ ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอบ่อพลอย เลาขวัญ และห้วยกระเจา ความจุเพิ่มขึ้น 41.41 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 86,908 ไร่ และ 4.โครงการก่อสร้างระบบส่งนํ้าและอาคารประกอบคลองท่าล้อ- อู่ทอง เป็นโครงการก่อสร้างสถานีสูบนํ้าด้วยไฟฟ้าและระบบส่งน้ำจากคลองท่าล้อ-อู่ทอง มีพื้นที่รับประโยชน์ศักยภาพประมาณ 140,000 ไร่ในเขตอำเภอห้วยกระเจา และพนมทวน

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์