‘ปิยะสกล’ ตั้งกก.ออกกม.รองรับ ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ ประชุม 24 ต.ค. จุฬาฯเสนอพ.ร.บ.ประชาชน

หลังจากคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งภาคส่วนต่างๆในการขับเคลื่อนให้สารสกัดกัญชาสามารถนำมาใช้บำบัดรักษาโรคได้ กระทั่งติดขัดเรื่องตัวบทกฎหมายที่กังวลว่าอาจปลดล็อกไม่ทัน จนมีข้อเสนอต่างๆ

ล่าสุดมีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขในขั้นของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พิจารณา ปรับจากกัญชา เป็นสารเสพติดประเภท 5 เป็นประเภท 2  เพื่อให้ใช้เป็นยา ซึ่งน่าจะทำให้กฎหมายออกมาได้เร็ว เนื่องจากขั้นตอนใช้เวลาไม่เกิน 1-2 เดือน  กระทั่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยังเตรียมเสนอขอปลดล็อกสูตรตำรับยาแผนไทยโบราณ 4 ตำรับนั้น

เมื่อวันที่  23 ตุลาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า สิ่งที่กังวลในเรื่องของ การเสนอปลดล็อกกฎหมาย โดยใช้รูปแบบเปลี่ยนกัญชาจากสารเสพติดประเภท 5 เป็นประเภท 2 เพื่อให้เป็นยานั้น มีข้อกังวลคือ จะใช้ได้เฉพาะสารสกัด แต่ดอก ใบ ที่เป็นพืชยาจะไม่ได้

แต่หากกรณีนี้ ทาง อย.สามารถระบุไปได้ว่า พืชยาให้เป็นยาได้ด้วยนั้นก็จะเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าการแพทย์แผนไทย หรือการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการบำบัดรักษาโรคเป็นสิ่งจำเป็น และต้องใช้ควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากการที่ตนได้ทำงานด้านกัญชามา 8 เดือน เริ่มรู้สึกว่าที่ผ่านมาตนเองอาจใจกว้างไม่พอ และจะรู้สึกละอาย หากไม่รับฟังภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้พัฒนาสูตรการบำบัดรักษาโรคมานานจนกระทั่งปัจจุบัน  ดังนั้น การปลดล็อกกัญชาจำเป็นต้องทำให้ครอบคลุม ไม่ใช่แค่เรื่องสารสกัด แต่ในรูปพืชยา ต้องคำนึงด้วย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังจากตระหนักแล้วว่า ตนเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน เรามักตีกรอบตัวเอง โดยเชื่อหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งมาจากต่างประเทศ และหลักฐานดังกล่าว ส่วนมากจะเป็นการเรื่องการศึกษาเทียบเคียงความปลอดภัย และประสิทธิภาพทางคลินิก คือ จะบอกว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล ซึ่งมีตัวแปรหลายอย่างในเรื่องของข้อมูล อาจมีการละเลย การใช้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้ผลที่ได้ออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริงก็มี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีงานวิจัยอยู่

ดังนั้น การจะทำอะไรต้องดูให้ลึกซึ้ง 2 ประการ คือ 1.ต้องทราบกลไกการเกิดของโรคนั้นๆ ให้มากที่สุด ทั้งกลไกของยา ของสารประกอบอะไรก็ตามที่จะมาขัดขวางกระบวนการเกิดโรคนั้นได้หรือไม่ และ2.ต้องดูกลไกที่เราอาจยังไม่ทราบ ต้องเปิดใจกว้าง โดยการศึกษาจากภูมิปัญญาการแพทย์ท้องถิ่น ซึ่งมีการพัฒนาและประยุกต์ จนเริ่มมีมาตรฐานขึ้น

“จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หากจะปลดล็อกกฎหมายต้องครอบคลุมทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ซึ่งล่าสุดวันที่ 24 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข ผมได้รับเชิญให้ร่วมประชุมจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเพิ่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบาย แนวทาง และการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ… ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเพสติด (ฉบับที่…) พ.ศ.. ครั้งที่ 1/2562 โดยมีนพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการชุดนี้ ซึ่งผมจะเสนอแนวทางการปลดล็อกกัญชา

และล่าสุดจากภาคประชาชน ภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้จัดทำร่างกฎหมายฉบับประชาชน คือ ร่างพ.ร.บ.พืชยา กัญชา พืชกระท่อม พ.ศ. ….  ซึ่งได้ปรับปรุงล่าสุดวันที่ 21 ตุลาคม 2561 โดยจะจัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อให้สามารถนำไปรักษาทางการแพทย์ และการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเสนอร่างพ.ร.บ.ใหม่ จะทำให้กฎหมายออกมาล่าช้าหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เราต้องตกผลึกให้ได้เสียก่อนว่าจะใช้อะไร รูปแบบไหน ซึ่งเมื่อได้แล้ว อย่างหากเป็นการใช้กฎหมายเฉพาะ ก็ต้องมาหาวิธีลัดที่จะทำให้กฎหมายออกมาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ด้าน นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ในฐานะประธานกรรมการกำหนดนโยบาย แนวทาง และการดำเนินการตามร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯชุดนี้ได้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นชุดที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการออกอนุบัญญัติเพื่อสอดคล้องกับพ.ร.บ.ฯฉบับใหญ่ที่อยู่ในขั้นตอนตามกฎหมายอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งเป็นแค่การออกอนุบัญญัติ หรือกฎหมายรอง ว่าในส่วนของกระทรวงฯ โดย อย.จะมีกฎหมาย หรือมีอะไรมารองรับ ยังไม่ใช่ว่าจะเป็นชุดที่จะได้ข้อสรุปเรื่องการพิจารณากัญชาทางการแพทย์แต่อย่างใด

 

ที่มา มติชนออนไลน์