เตรียมรับมือรถติด! กทม.ทุบ ‘สะพานข้ามแยก ณ ระนอง’ สร้างใหม่ เริ่ม9พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันติ์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)ายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ตำรวจจราจร และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามและประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง เขตคลองเตย ซึ่งจะเริ่มปรับช่องจราจรเพื่อก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

นายสมพงษ์ กล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดการจราจรไฟแดงหลายขยัก และลักษณะกายภาพที่เป็นคอขวด บริเวณถนนวงแหวนรัชดาภิเษก และถนนสายหลักที่ส่งผลกระทบต่อถนนพระราม 3 และถนนเชื่อมต่อ โดยรถที่มุ่งหน้ามาจากฝั่งธนบุรีสู่ถนนรัชดาภิเษกจำนวนมาก จะเผชิญปัญหารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน กทม. จึงมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายจราจรให้สมบูรณ์ ช่วยให้รถวิ่งคลองตัวยิ่งขึ้น โดยว่าจ้างบริษัท สหการวิศกร จำกัด วงเงิน 1,470 ล้านบาท สร้างสะพานยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร 2 ทิศทาง ความยาว 1,950 เมตร (ม.) และความกว้าง 17.40 ม. เริ่มจากโรงเรียนนนทรีวิทยาข้ามไปยังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทุบสะพานเดิมบางส่วนทิ้ง เพื่อเชื่อมสะพานยกระดับใหม่

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน จะก่อสร้างสะพานข้ามถนนเชื้อเพลิง ความยาว 750 ม. ทดแทนสะพานเดิมที่ชำรุด พร้อมก่อสร้างสะพานเลี้ยวขวา จากถนนพระราม 3 ข้ามแยก ณ ระนอง ในแนวถนนรัชดาภิเษก-สุนทรโกษา ขนาด 2 ช่องจราจร เดินรถทิศทางเดียว ความยาว 600 ม. คาดใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน หรือประมาณ 3 ปี โดยสัญญาจะสิ้นสุดวันที่ 13 มีนาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การก่อสร้างกระทบต่อประชาชนและการจราจร จึงแบ่งการดำเนินการออกเป็น 4 ระยะ โดยไม่มีการปิดจราจร เพื่อให้พื้นที่จราจรส่วนที่ยังไม่ก่อสร้างสัญจรไปมาได้ ได้แก่ ระยะที่ 1 บริเวณโรงเรียนนนทรีวิทยา-สะพานเชื้อเพลิง จะเริ่มปรับช่องจราจร ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ระยะที่ 2 บริเวณสะพานเชื้อเพลิง-ตลาดปีนัง จะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2562 ระยะที่ 3 บริเวณตลาดปีนัง-แยก ณ ระนอง เนื่องจากช่วงนี้มีการจราจรหนาแน่นมาก จึงจะเริ่มก่อสร้างกลางปี 2562 และระยะที่ 4 บริเวณแยก ณ ระนอง-ศุลกากร จะเริ่มก่อสร้างเดือนธันวาคม 2561

นายสมพงษ์  กล่าวว่า ระหว่างก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแยก ณ ระนอง อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่สัญจรไปมา จึงขอความร่วมมือให้เลี่ยงเส้นทางดังกล่าวระหว่างก่อสร้าง โดย กทม.จัดแผนจราจรทางเลี่ยงออกเป็น 6 เส้นทาง ดังนี้

เส้นทางที่ 1 จากถนนพระราม 3 เข้าถนนเชื้อเพลิง ตัดกับถนนพระราม 4 บริเวณแยกใต้ทางด่วนออกถนนพระราม 4 เส้นทางที่ 2 จากแยกใต้ทางด่วนถนนพระราม 4 เข้าซอยสุวรรณสวัสดิ์ และเลี้ยวเข้าซอยศรีบำเพ็ญ ตรงไปถนนเชื้อเพลิง 4 แล้วเลี้ยวซ้ายจะมุ่งหน้าออกไปถนนเชื้อเพลิง

เส้นทางที่ 3 จากแยกใต้ทางด่วนถนนพระรามที่ 4 เข้าซอยสุวรรณสวัสดิ์ และเลี้ยวซ้ายเข้าซอยศรีบำเพ็ญและเลี้ยวขวาเข้าถนนเย็นอากาศ มุ่งหน้าไปถนนนางลิ้นจี่ และเลี้ยวขวาเข้าถนนจันทร์ และออกถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เส้นทางที่ 4 จากแยกใต้ทางด่วนถนนพระราม 4 เข้าซอยสุวรรณสวัสดิ์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยศรีบำเพ็ญและเลี้ยวขวาเข้าถนนเย็นอากาศ มุ่งหน้าไปถนนนางลิ้นจี่ และเลี้ยวซ้ายออกถนนรัชดาภิเษก เส้นทางที่ 5 จากถนนซอยอมรมุ่งหน้าไปถนนจันทร์เก่า และออกถนนนราธิวาสราชครินทร์ และเส้นทางที่ 6 จากแยกนางลิ้นจี่ ถนนพระราม 3 ไปวงแหวนอุตสาหกรรม เข้าถนนปู่เจ้าสมิงพรายเลี้ยวซ้ายเข้าถนน 3109 (ถนนรางรถไฟสายเก่าปากน้ำ) มุ่งหน้าไปท่าเรือ 2

ด้าน พล.ต.ต.จิรสันติ์ กล่าวว่า บริเวณถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 3 ถนนพระราม 4 และพื้นที่ชั้นใน เป็นจุดที่จะได้รับผลกระทบจราจรระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากปริมาณรถหนาแน่น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเฝ้าระวังให้การก่อสร้างกระทบต่อผิวจราจรน้อยที่สุด พร้อมกำหนดเส้นทางเลี่ยง โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนที่มาจากถนนรัชดาภิเษก พระราม 4 เลี้ยวขวาไปแยกวิทยุและเลี้ยวซ้ายไปถนนสาทร เพื่อบรรจบกับถนนพระราม 3 หรือเข้าซอยย่อยพระราม 3 ซอย 67 และ 72 ขณะที่การจัดการจราจร โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น จะเปิดเส้นทางพิเศษ (Reversible Lane) เพื่อเร่งระบายรถฝั่งขาเข้าในช่วงเช้า และฝั่งขาออกในช่วงเย็น โดยจะพิจารณาปริมาณรถขณะก่อสร้างอีกครั้ง ส่วนบริเวณแยก ณ ระนอง จะมีปริมาณรถสัญจรเฉลี่ยวันละ 200,000 คัน จึงต้องวางแผนจัดจราจรและกำหนดทางเลี่ยงอย่างรัดกุม ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง

ที่มา:มติชนออนไลน์