ครม.ไฟเขียว! คลายล็อก “กัญชา” ใช้ในทางการแพทย์ได้แล้ว

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 เวลา 14.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องของประกอบร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่าในที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยให้สามารถใช้ยาเสพติดในประเภท 5 (กัญชาและกระท่อม) ในทางการแพทย์ หรือเพื่อการนันทนาการได้โดยชอบด้วยกฎหมายได้

เนื่องจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติ บางประการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ในปัจจุบันในส่วนของกัญชานั้นปรากฏผลวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ หลายประเทศทั่วโลกจึงได้มีการผ่อนปรนโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย อนุญาตให้ประชาชนใช้พืชกระท่อมและกัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อการนันทนาการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

แต่สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันพืชกระท่อมและกัญชายังคงเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีการกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครอง ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริงพบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนก็ลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมานานหลายปีแล้ว ทั้งผลิตใช้เองและผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นผลให้มีราคาแพง และ อาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์และตำรับยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ดังนี้

1. เพิ่มเติมบทบัญญัติ ห้ามมิให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16)

Advertisment

2. เพิ่มเติมบทบัญญัติ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต และกำหนดให้การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตามจำนวนที่กำหนด ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17)

3. เพิ่มเติมบทบัญญัติ ในกรณีที่ยกเว้นให้มียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองไม่เกินจำนวนที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือสำหรับใช้ประจำในการปฐมพยาบาล หรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 18)

4. เพิ่มเติมอำนาจของผู้อนุญาตที่จะอนุญาตให้จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 5 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19)

5. เพิ่มเติมให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจกำหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผลิตและทดสอบยาเสพติดประเภท 5 หรือกำหนดเขตพื้นที่ให้เสพหรือครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่กำหนดได้ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและต้องมีมาตรการควบคุมตรวจสอบด้วย (เพิ่มมาตรา 19/1)

Advertisment

6. ตัดยาเสพติดประเภท 5 ออกจากบทบัญญัติห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง รวมถึงการกำหนดปริมาณยาเสพติดประเภท 5 ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อครอบครองจำหน่ายออก โดยใช้เนื้อหาเดียวกันนี้ไปกำหนดเพิ่มเติมในมาตราอื่น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26)

7. กำหนดห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตามมาตรา 17 จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 นอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 27)

8. เพิ่มเติมหน้าที่ของผู้รับอนุญาต ในการจัดเก็บรักษายาเสพติด และหน้าที่ที่ต้องกระทำเมื่อ ยาเสพติดถูกโจรกรรม สูญหาย หรือถูกทำลาย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 28)

9. กำหนดเพิ่มเติมมิให้โฆษณายาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่เป็นการโฆษณาต่อผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับอนุญาต และหลักเกณฑ์ในการโฆษณาฉลากหรือเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48)

10. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตที่ประสงค์จะจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 5 เกินปริมาณที่กำหนด ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 60)

11. กำหนดหน้าที่ของทายาท ผู้ครอบครอง หรือผู้จัดการมรดก และอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 5 ตายก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 61)

12. กำหนดโทษกรณีครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อันฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 76 และมาตรา 76/1)

อย่างไรก็ตาม นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้กำหนด และควบคุมไว้อย่างน้อย เป็นระยะเวลา 5 ปี เนื่องจาก ครม.ห่วงใยว่าช่วงระยะ 5 ปีแรก อาจจะมีการปรับเปลี่ยนดูแลอย่างใกล้ชิด และหลังจาก 5 ปี จะมาทบทวนอีกครั้ง ว่าควรปรับปรุง อนุญาต ลด เพิ่มเติมอะไรได้บ้าง ขณะที่พืชกระท่อม ได้ปรับจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 มาอยู่ที่ประเภท 2 อย่างไรก็ตามเมื่อครม.เห็นชอบแล้ว จะส่งร่างดังกล่าว พร้อมแนบความคิดเห็นกลับไปยัง สนช.พิจารณาอีกครั้ง