สนช.เผยผลหารือกรมทรัพย์สินฯ รู้แล้วสาเหตุล้างไพ่ปัญหา “สิทธิบัตรกัญชา” ไม่ได้!

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) โพสต์ในเฟซบุ๊ก นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ถึงกรณี นายดิเรก บุญแท้ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าชี้แจงประเด็นสิทธิบัตรกัญชากับวิป สนช. เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าผลสรุปคือยังมีคำขอค้างการพิจารณาอยู่ 7 คำขอ ถ้าคลายล็อกกัญชาและอนุมัติสิทธิบัตร ผู้ทรงสิทธิบัตรจะได้ประโยชน์ย้อนหลังไปนานสุดถึงปี พ.ศ.2553 คำขอทั้งหมดผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ผ่านการประกาศโฆษณาแล้ว ล้วนแต่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสาระการประดิษฐ์ เพื่อให้กรมอนุมัติจดทะเบียนต่อไป โดยไม่มีบริษัทคนไทยแม้แต่แห่งเดียว

รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา บอกว่าไม่สามารถล้างไพ่ใหม่เพื่อยกคำขอทั้งหมดได้ เพราะติดปัญหา TRIPS Agreement และมาตรา 17 วรรคท้ายของ พ.ร.บ.ทรัพย์สินทางปัญญาที่เขียนว่า “ในกรณีที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแห่งความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสิทธิบัตร หากคําขอรับสิทธิบัตรเป็นไปตามที่กําหนดในความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศดังกล่าว ให้ถือว่าคําขอดังกล่าวเป็นคําขอรับสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัตินี้” กรรมาธิการพยายามเสนอแนะว่าควรยกเลิกคำขอตาม ม.9(5)ที่เขียนว่า การประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.นี้ คือ…(5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน และมาตรา 5 ที่เขียนว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 9 การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วย ลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
(2) เป็นการประดิษฐที่มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น และ
(3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม

ซึ่งอธิบดีสามารถยกเลิกได้ตามมาตรา 30 ที่เขียนว่า

“เมื่อได้ประกาศโฆษณาตามมาตรา 28 แล้ว ถ้าปรากฏว่าคําขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา 5 มาตรา 9 และ….ให้อธิบดีสั่งยกคำขอสิทธิบัตร และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคําสั่งไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรรวมทั้งผู้คัดค้าน ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา 31 และให้ประกาศโฆษณาคําสั่งนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดโดย กฎกระทรวงแต่ถ้ายกคำขอ บริษัทเหล่านี้สามารถอุทธรณ์ได้โดยใช้เวลานานถึง 5 เดือน”

Advertisment

ดังนั้น เมื่อกรมไม่สามารถยกคำขอในทันทีและเห็นว่าเป็นยารักษามนุษย์และทยอยพิจารณาไปตามเอกสารหลักฐานโดยใช้เวลานาน เพราะกรมมีคนน้อยและขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ถ้าคลายล็อกกัญชาและอนุมัติสิทธิบัตรย้อนหลังได้ตั้งแต่วันขอ หากองค์การเภสัชกรรม หรือมหาวิทยาลัยรังสิตจะขอจดสิทธิบัตรยา อาจมีปัญหา…ถ้าขั้นตอนการประดิษฐ์เกิดไปเหมือนกับ 7 บริษัทเหล่านี้

ข้อสรุปของวิป สนช.คือ เดินหน้า ประธานจึงสั่งบรรจุวาระหนึ่งในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ตั้ง กมธ. 29 คน จากกระทรวงสาธารณสุข 5 คน เมื่อรู้ปัญหาแล้วจะไปช่วยกันพิจารณาหาทางออกให้ประโยชน์เกิดขึ้นกับประเทศชาติและคนไทยต่อไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์

Advertisment