“ขรก.ลวนลามสาว” ผิดจริง! ตั้งกก.สอบวินัยร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาสายตรงเพิกเฉยถูกสอบวินัยด้วย

(แฟ้มภาพ) นพ.โสภณ เมฆธน

หลังจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีคำสั่งให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถูกร้องเรียนว่ามีการลวนลามและกระทำอนาจารลูกจ้างสาว จนมีการถ่ายคลิปวิดีโอเพื่อเป็นหลักฐานเข้าแจ้งความดำเนินคดี โดยได้ให้คณะกรรมการสืบสวนฯ สอบเพิ่มเติมว่ามีใครที่เกี่ยวข้องหรือเพิกเฉยเรื่องนี้คาดว่าจะสรุปผลได้ภายในสัปดาห์นี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวผลการสืบสวนกรณีข้าราชการมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ว่า คณะกรรมการสืบสวนได้เสนอผลการสืบสวนกรณีข้าราชการสังกัด สธ.ถูกร้องเรียนว่าได้กระทำอนาจารผู้ใต้บังคับบัญชาหญิงหลายรายในลักษณะไม่สมควร เป็นการคุกคามทางเพศ และมีพฤติกรรมใช้อำนาจข่มขู่ต่างๆ ทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความอึดอัด เกรงกลัว ซึ่งตนได้สั่งการให้สืบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่มีข่าวว่าผู้บังคับบัญชาบางคนมีการไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหายถอนแจ้งความร้องทุกข์ด้วยนั้น

นพ.โสภณ กล่าวว่า ผลการสืบสวนฯ มี 2 ประเด็น คือ 1.ประเด็นข้าราชการชายมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศผู้ใต้บังคับบัญชา และข่มขู่ผู้เสียหายนั้น มีพฤติกรรมตามที่ผู้ร้องเรียนกล่าวหาจริง และผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าได้ดำเนินการในลักษณะหยอกล้อที่ไม่ค่อยเหมาะสม แต่ทำโดยไม่มีเจตนาจะลวนลามเชิงชู้สาวหรือคุกคามทางเพศ กรณีนี้คณะกรรมการมีความเห็นว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรกระทำต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และเป็นการกระทำในสถานที่ราชการ ทั้งยังอยู่ในเครื่องแบบข้าราชการ การกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความไม่พอใจ อึดอัดใจ อับอาย แต่ต้องจำยอมฝืนทน ไม่กล้าต่อว่า หรือขัดขืนรุนแรง ถือได้ว่าเป็นการคุกคามทางเพศ ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553และผู้ถูกกล่าวหามักแสดงพฤติกรรมวางอำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา บางครั้งได้ข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนในกรณีต่าง ๆ กันไป มักแสดงกริยาอาการไม่พอใจ อารมณ์เสียในเวลาผู้ใต้บังคับบัญชาขัดใจหรือไม่ทำสิ่งที่ต้องการ คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า มีมูลอันควรกล่าวหาว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง

2.ประเด็นที่เป็นข่าวว่ามีผู้บังคับบัญชาบางคนไกล่เกลี่ยไม่ให้ผู้เสียหายดำเนินคดีอาญา หรือกรณีผู้บังคับบัญชารู้เรื่องแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ นั้น ไม่พบว่าผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใดไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหายถอนแจ้งความ แต่ประเด็นที่ผู้บังคับบัญชาทราบเรื่องแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ พบว่าผู้บังคับบัญชาดังกล่าวทราบเรื่องมาเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ไม่ได้ทราบจากผู้เสียหาย จึงถือว่าผู้บังคับบัญชาทราบเรื่องแล้ว แต่ไม่ได้มีการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน ถูกต้องตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการสืบสวนจึงเห็นว่า พฤติการณ์เช่นนี้มีมูลอันควรกล่าวหาว่า กระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เห็นควรให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยไม่ร้ายแรงผู้บังคับบัญชาชั้นต้น

น.ส.ยุพิน ตันวิสุทธิ์ ผอ.กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม กรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงฯ

“ทั้งนี้ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรงนั้น จะเป็นคณะกรรมการเพียงชุดเดียว แต่ทำงานควบคู่ โดยขั้นตอนต่อไปจะอยู่ระหว่างสรรหากรรมการ ซึ่งจะมีหน่วยงานภายนอกเข้าร่วม โดยกรอบระยะเวลาอยู่ที่ 120 วัน ทั้งนี้การสอบสวนขั้นวินัยนั้น หากผลสรุปออกมาว่าสอบวินัยร้ายแรง ก็จะถึงขั้นปลดออก หรือไล่ออก โดยหากปลดออก ก็ยังได้เงินบำเหน็จบำนาญ และสามารถเข้ารับราชการได้อีก แต่หากไล่ออก จะไม่ได้ทั้งหมด ขณะที่สอบวินัยไม่ร้ายแรงนั้นจะมีขั้นตอนการลงโทษคือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ถูกสอบจะต้องผิดวินัยหมดหลายครั้งเมื่อสืบพยานมากขึ้นก็อาจไม่มีผิดวินัยก็มี แต่ทั้งหมดทางสธ.กำชับแล้วว่า ต้องทำให้ได้ความโปร่งใสมากที่สุด” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisment

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้พูดคุยกับทางผู้เสียหายแล้ว โดยมีความเครียดอยู่เหมือนกัน แต่ในระดับปานกลาง สามารถปฏิบัติงานได้ ซึ่งความเครียดเกิดจากความวิตกกังวลว่า อาจถูกใครมาทำร้ายหรือข่มขู่หรือไม่ ซึ่งตนในฐานะรองปลัดที่ดูแลกองกลางได้กำชับให้ทุกคนช่วยดูแล รวมทั้งพูดคุยกับญาติให้ดูแลในเรื่องการรับส่งน้องๆ เพื่อความสบายใจด้วย ขณะเดียวกันมีคำสั่งไม่ให้ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาลวนลามเข้ามาในบริเวณอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงฯ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

จะเด็จ เชาวน์วิไล

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ผลสอบดังกล่าวถือว่ากระทรวงฯ ฟังเสียงภาคประชาชนในความเป็นห่วงเรื่องนี้ ซึ่งยังโยงถึงคนที่เพิกเฉยด้วย ก็เป็นไปตามข้อเรียกร้อง แต่ก็ต้องติดตามดูว่าผลสอบวินัยร้ายแรงจะเสร็จเมื่อไร ซึ่งโดยหลักสอบวินัยร้ายแรงต้องให้ออกจากราชการเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามส่วนของคณะกรรมการสอบวินัยไม่ร้ายแรง ว่าจะสอบแบบไหน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ขอให้กำลังใจกระทรวงฯ ต่อไปว่า ควรสร้างมาตรการทั้งการให้ความรู้ การอบรมบุคลากรเรื่องนี้ไปด้วย นอกเหนือจากหนังสือเวียนกำชับห้ามกระทำอนาจาตหรือคุกคามทางเพศ แต่ควรสร้างกลไกการร้องเรียนที่เข้าถึงง่าย และโปร่งใสจริงๆ และควรมีกลไกให้การช่วยเหลือให้คำปรึกษาในส่วนของสุขภาพจิตด้วย

“อยากให้ปลัดสธ.ทำกลไกให้เป็นถาวร เพราะไม่ใช่ว่าปลัดใหม่ หรือผู้บริหารใหม่เข้ามา หากไม่สนใจจะทำอย่างไร เพราะกรอบระยะเวลา 120 วัน อาจไม่ทันปลัดคนนี้ เพราะเห็นว่าจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้แล้ว มีปลัดใหม่เข้ามาเราก็อยากให้ตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องนี้ต่อจากปลัดคนปัจจุบันด้วย ซึ่งหากสธ.ให้ความสำคัญ และสร้างกลไกอย่างถาวร ข้าราชการผู้หญิงทุกคนก็จะมีความมั่นใจมากและกระทรวงฯจะกลายเป็นต้นแบบที่เอาผิดข้าราชการพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้” นายจะเด็จกล่าว

 

Advertisment

ที่มา : มติชนออนไลน์