แพทย์แนะพ่อ-แม่เอาใจใส่ลูกตั้งแต่เด็ก อายุน้อยกว่า 2 ขวบไม่ควรให้ดูวิดีโอ

ทีเอ็มบี สานต่อโครงการไฟฟ้า (FAI-FAH) ซึ่งเป็นโครงการ “ให้คืน” สังคมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Make THE Difference เปิดตัวแคมเปญ “เด็กธรรมดา…คือสิ่งที่สวยงาม” เพื่อกระตุ้นสังคมไทยให้ เปิดโอกาสให้เด็กธรรมดาได้มีพื้นที่ค้นหาตัวเอง เพื่อเป็นกำลังสำคัญ ในการผลักดันชุมชนและสังคมในอนาคต

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า โครงการ ไฟ-ฟ้า ก่อตั้งมามาแล้วกว่า 9 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ เปลี่ยนเด็กในชุมชนที่ขาดโอกาส และมีต้นทุนติดลบ ให้สามารถค้นพบศักยภาพของตัวเองแล้วนำไปต่อยอดสร้างอาชีพให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งในเรื่องนี้ถ้าเป็นในกลุ่มของครอบครัวที่มีฐานะในระดับชั้นกลางขึ้นไปคงไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากที่จะส่งเสริม และสนับสนุนตามที่เด็กต้องการได้ แต่ถ้าเป็นเด็กในชุมชนในบางครอบครัวมันอาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา ในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนลูกของพวกเขาตามที่เด็กต้องการ แค่การที่จะทำให้ลูกของพวกเขาใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไปก็เป็นเรื่องที่ยากแล้ว ยิ่งถ้าจะสนับสนุนให้เด็กสามารถค้นศักยภาพของตัวเองเจอนั้นยิ่งเป็นเรื่องยากเข้าไปใหญ่

“ เราหวังว่าที่นี่จะเป็นที่ ที่ทำให้น้อง ๆ สามารถค้นพบตัวเองเจอ และเป็นที่ที่ปลอดภัย สำหรับพวกเขา ที่จะล้มเหลว ผิดพลาด ลองผิดลองถูก ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละจะทำให้เขาได้เป็นเด็กธรรมดา ที่มาโตขึ้นไปแล้วเขามีโอกาสที่จะเป็นเด็กไม่ธรรมดาได้

นอกจากนี้ปลายทางที่ทีเอ็มบีคาดหวัง คือ เมื่อเด็กเหล่านี้ได้รับโอกาสจากศูนย์แล้ว พวกเขาจะเปลี่ยนเป็นผู้ให้คืนกลับสู่สังคมด้วย” ปิติ กล่าว

ทางด้านกาญจนา โรจวทัญญ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี กล่าวเสริมว่า ที่มาของแคมเปญ “เด็ก ธรรมดา…คือสิ่งที่สวยงาม” เกิดจากการมุมมองของทีเอ็มบีที่เชื่อว่า ในความธรรมดานั้นมีสิ่งสวยงามซ่อนอยู่ อีกทั้งเพื่อส่งเสริม ให้เด็กธรรมดาได้มีโอกาสในการแสดงความสามารถของตนเอง พร้อมทั้งนำเสนอให้สังคมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ ที่ได้รับการจุดประกายจากศูนย์ไฟ-ฟ้า และยังสร้างโอกาสให้เด็กธรรมดาได้มีพื้นที่ยืนในสังคมได้อย่างสวยงาม เท่าเทียมกับเด็กคนอื่น ๆ

ศูนย์ไฟ-ฟ้า เปิดโอกาสให้เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยในชุมชนเข้ามาเรียนรู้เรื่องศิลปะต่าง ๆ และทักษะชีวิต ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี เพราะเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ เริ่มมีความคิดเป็น กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งกิจกรรมที่เรียนรู้จะใช้บริบทและความต้องการของชุมชนมาเป็นโจทย์หลัก และสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน

“สิ่งที่ทางทีเอ็มบีคาดหวัง คือ ไม่ได้ต้องการให้เด็กต้องเป็นที่หนึ่ง หรือต้องได้เหรียญทอง ไม่ต้องเป็นฮีโร่ ขอแค่ให้เด็กได้รู้จักตัวเองนั้นคือ ความธรรมดาที่สวยงามอยู่แล้ว ทีเอ็มบีเป็นเพียงซัพพอร์ต เป็นไกด์ให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เป็นความสุขและภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำไม่ต้อง เปรียบเทียบกับใคร ให้เด็กรู้จักแบ่งปันก็เพียงพอแล้ว นี่จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “เด็กธรรมดา คือ สิ่งสวยงาม” ซึ่งอยากให้สังคมไทยได้เล็งเห็นในจุดนี้และร่วมกันชื่นชมเด็กธรรมดา แทนที่จะชื่นชมเฉพาะเด็กเก่ง” กาญจนา กล่าว

นอกจากนี้ทางด้าน นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ให้คำนิยามของ “เด็กธรรมดา” ไว้ว่าเด็กธรรมดาจะต้องสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เอาตัวรอดได้ และมีอนาคตที่ใช้ได้

ซึ่งการช่วยเหลือตัวเองได้ จะต้องสามารถดูแลร่างกายตัวเองได้ เก็บของเล่นเป็นที่ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านได้ และรู้จักกฎของสาธารณะ เป็นต้น, ส่วนการเอาตัวรอดได้จะต้องรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี เมื่อเข้าอบายมุขได้ก็ต้องออกได้, และการมีอนาคตที่ใช้ได้นั้นหมายถึง เด็กคนนั้นจะต้องมีทักษะชีวิตที่ดี มองเห็นอนาคตของตัวเองได้ และมีการกำหนดเป้าหมายในอนาคต

นายแพทย์ประเสริฐ ยังกล่าวต่ออีกว่าการที่เด็กจะมีการพัฒนาการที่ดีขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ซึ่งพ่อแม่ควรจะดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิดโดยเริ่มตั้งแต่ยังเล็กเช่น การอ่านนิทานก่อนนอนให้เด็กฟังทุกวัน และเปิดโอกาสให้เด็กมีเวลาเล่นสนุกสนานเยอะเยอะแทนที่จะได้เรียน ตั้งแต่เล็ก พอเด็กเริ่มมีการทรงตัวที่ดีแล้วสามารถเริ่มเดินได้ หยิบจับอะไรได้ ก็ควรเริ่มให้เค้าช่วยทำงานบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้

นอกจากนี้นายแพทย์ประเสริฐ ยังแนะนำอีกด้วยว่า ก่อนที่เด็กจะมีอายุถึง 2 ขวบ ไม่ควรให้เด็กดูคลิปวิดีโอใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อเด็กอายุเกินแล้วสามารถให้เด็กดูคลิปวิดีโอได้ แต่จะต้องมีการกำจัดเวลาไว้ด้วย เนื่องจากมีเด็กควรมีเวลาส่วนใหญ่ในการอ่าน การเล่น และการช่วยงานบ้านเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในกรณีที่เด็กเล่นมือถือหรือแท็บเล็ต พ่อแม่ควรจะนั่งเล่นอยู่กับลูกด้วยเพื่อความปลอดภัยไม่ให้เด็กดูอะไรที่ไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาการของเด็ก