นายกฯ เยือนโคราช เร่งรัดอุโมงค์ผันน้ำ-ไฟเขียวรางยกระดับ-แก้แล้ง-ท่วม 8.8 พันล้าน

วันนี้ (25 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยกล่าวช่วงหนึ่ง ระบุว่า พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ, ในการลงพื้นที่พบปะกับพี่น้องประชาชน, พี่น้องเกษตรกร, ข้าราชการและผู้ประกอบการ ในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา และภาคอีสานของผม และคณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนในเรื่องต่างๆ จากการบริหาราชการแผ่นดิน 3 ปีที่ผ่านมารวมทั้งรับฟังความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แล้วจะนำมาพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีในภูมิภาคนั้น

เพื่อจะได้นำไปสู่การอนุมัติ แผนงานโครงการ งบประมาณ ให้สามารถดำเนินงานได้ในหลายโครงการนะครับเพื่อจะบรรเทาปัญหาและช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนชาวอีสานและชาวโคราชซึ่งผมจะขอเล่าให้ทุกคน จากทุกภาคได้รับรู้ รับทราบ ถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาล และจะได้ตื่นตัวในการมีส่วนร่วมกับรัฐบาล โดยจะต้องเชื่อมโยงกันในระดับภาคและประเทศ ดังต่อไปนี้…

1. ปัญหาการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมซ้ำซากนั้นผมได้เร่งรัดแผนบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล เพื่อผันน้ำโขงเข้ามาใช้พัฒนาการบริหารจัดการน้ำในภาคอีสาน เพื่อเสริมระบบชลประทานที่สามารถกระจายน้ำสู่พื้นที่เกษตรได้ โดยใช้แรงโน้มถ่วงในสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่สูงมีระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ให้ไหลผ่านอุโมงค์ผันน้ำเข้าสู่พื้นที่

ซึ่งโครงการนี้ จะสามารถใช้บรรเทาอุทกภัยได้ด้วย แต่คงจะต้องใช้เวลาในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและใช้เวลาในการก่อสร้างหลายปี ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องเร่งดำเนินการเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยด่วน

ในระหว่างนี้ เราคงต้องมีการดำเนินการด้านอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อจะบรรเทาปัญหา เช่น การเก็บกักน้ำตั้งแต่ต้นน้ำชี โดยเร่งรัดการดำเนินโครงการอ่างลำสะพุง จ.ชัยภูมิ ที่ยังติดเรื่องการใช้พื้นที่ ซึ่งจะได้แก้ปัญหา โดยการย้ายตำแหน่งของพื้นที่ลงมาที่เชิงเขา เพื่อให้ไม่กระทบกับพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า

นอกจากนี้จะพิจารณาการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ตามจังหวัดชายแดนที่ติดแม่น้ำโขง เพื่อให้เก็บกักน้ำก่อนระบายลงสู่น้ำน้ำโขง ทั้งนี้จะเร่งพิจารณางบประมาณและแผนเพื่อดำเนินการต่อไปนะครับ รวมทั้งในการเร่งรัดจัดทำ EIA และออกแบบโครงการประตูระบายน้ำปากแม่น้ำสงคราม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นกรณีเร่งด่วน

สำหรับการบริหารน้ำ “นอกเขตชลประทาน” นั้น จะมีการเพิ่มระบบการกักเก็บน้ำและระบบกระจายน้ำ โดยสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กแบบหลุมขนมครก โดยจะพิจารณาสนับสนุนเครื่อง จักรกลในการขุดเจาะบ่อบาดาลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำในที่นา และปรับแปลงนาตามเกษตรทฤษฎีใหม่อีกด้วย

2. การสนับสนุนการค้าการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐานในภาคอีสาน เพื่อยกระดับศักยภาพของพื้นที่และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวนั้น ผมได้หารือกับหน่วยงานต่างๆ โดยเห็นว่าจะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้สอดคล้องและรองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อาทิ การก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ผ่านในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา นับเป็นโครงการที่ทุกฝ่ายสนับสนุน จะต้องขจัดปัญหาการแบ่งพื้นที่ชุมชนออกเป็นสองฝั่ง ที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการค้าขายของประชาชนในพื้นที่ โดยบรรลุ “ข้อสรุป” ร่วมกันว่าจะมีปรับแบบโครงการให้เป็นทางรถไฟ “ยกระดับ”ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องขยายระยะเวลาดำเนินงานออกไปอีก 17 เดือนสำหรับงานออกแบบโครงสร้างทางยกระดับการศึกษา EIA เพิ่มเติม และการก่อสร้าง

รวมถึงอาจทำให้มีค่าใช้ จ่ายเพิ่มขึ้น ราว 2,700 ล้านบาท แต่ก็นับว่าคุ้มค่านะครับ หากต้องแลกกับความสุขของประชาชน ที่ประเมินค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ เพราะโครงสร้างนี้ จะอยู่คู่เมือง คู่ประเทศ ไปอีกชั่วลูกหลาน

สำหรับการสนับสนุนการค้า ผมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาขับเคลื่อนการพัฒนาด่านชายแดนให้เกิดการบูรณาการอย่างจริงจัง มีการจัดการเป็นลักษณะ One Stop Service เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ สะดวก และย่นระยะเวลา โดยอาจมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาด่านชายแดนเพื่อให้เกิดบูรณาการการทำงานต่อไป

ทั้งนี้ ในอนาคตเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคอีสาน ทั้ง 3 แห่ง คือ ใน จังหวัดหนองคาย, จังหวัดนครพนม และ จังหวัดมุกดาหาร อาจมีการต่อยอด ขยายผล ไปสู่ระดับเดียวกับ EEC ได้ เมื่อทุกอย่างมีความพร้อมนะครับ ทุกอย่างก็ต้องพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน น้ำ ไฟ ประปา โทรศัพท์ ดิจิตอล อะไรเหล่านี้ ต้องพร้อมทั้งหมดนะครับ

ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงมูลค่า หรือผู้ที่สนใจในการลงทุนด้วยนะครับ ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันนะครับส่วนการสนับสนุนให้โคราชเป็น “เมืองท่องเที่ยว” นั้น ต้องร่วมมือกันในรูปแบบ “ประชารัฐ” ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยภาครัฐจะเข้าไปสนับสนุน

ขอให้เป็นความริเริ่มจากชุมชน เป็นการ “ระเบิดจากข้างใน”ในการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ในรูปแบบต่างๆ ทั้งศิลปวัฒนธรรม, ทรัพยากรธรรมชาติ, กีฬา, อาหาร, สมุนไพร รวมทั้ง “ของดี” ที่เป็นสินค้าประจำจังหวัด เช่น เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน, ผ้าไหมปักธงชัย เป็นต้นนะครับ

ก็คงต้องดูแลในเรื่องของความทรุดโทรมของสถานที่ท่องเที่ยวด้วยนะครับ ตลอดจนถนนหนทาง สร้างความเชื่อมโยง เพราะว่าแต่ละแห่งสวยงาม แต่มีระยะทางไกลนะครับ เดินทางไปมาไม่ค่อยสะดวก

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อต้นสัปดาห์ ได้มีการอนุมัติให้ดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออก เฉียงเหนือหลายด้านด้วยกันอาทิ…

1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา ในส่วนของการให้เอกชนมาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือเรียกว่า PPP ซึ่งทางหลวงพิเศษนี้ จะมีระยะทางประมาณ 196 กิโลเมตร และเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองจากกรุงเทพมหานคร ถึง หนองคาย ซึ่งจะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 535 กิโลเมตร

ซึ่งก็จะเป็นเส้นทาง ที่เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ช่วยลดต้นทุน ลดความแออัดของการจราจร และเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีกด้วยนะครับ

2. การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กว่า 2 พันล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ในพื้นที่ภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือและภาคเหนือให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว

3. เห็นชอบข้อเสนอแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่
(1) การกำหนดพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 พื้นที่ ให้ครอบคลุม 18 จังหวัด เพื่อให้มีความชัดเจนในการบูรณาการ แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

(2) ให้กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทรัพยากรน้ำ เสนอโครงการที่มีความพร้อมเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2561 เพิ่มเติม รวม 348 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 8,800 กว่าล้านบาท จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ราว 550,000 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 107 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียง เหนือใน 8 พื้นที่ดังกล่าว โดยจะมีการพิจารณา และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการและงบประมาณเพื่อจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่ออนุมัติต่อไป

(3) ให้รวบรวมแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาว ปี 2563 ถึง 2569 ตามแผนบริหารจัดการน้ำ นะครับ ของภาคตะวันออก เฉียงเหนือ จากทุกส่วนราชการที่เกี่ยว ข้อง โดยแผนงานดังกล่าวจะต้องสามารถแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เสี่ยงรุนแรง และร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมด

(4) ให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ หรือกำหนดมาตรการรองรับกรณีเกิดอุทกภัย โดยต้องแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ ครับ

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ในมาตรการสำคัญๆ ที่ได้ดำเนินการ เพื่อบรรเทาปัญหาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนะครับ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาหารือและร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไข เช่น เรื่องการศึกษา,

การพัฒนาแรงงาน และการสาธารณสุข ซึ่งก็ได้มีการมอบหมายส่วนงานให้ไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนแล้วนะครับ ผมต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวโคราช, ภาคเอกชน และข้าราชการในพื้นที่ ตลอดจนทุกจังหวัด นะครับ ในพื้นทีภาค อีสาน ที่ได้มาต้อนรับและให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ กับผมและคณะฯ อย่างอบอุ่น และเปี่ยมด้วยมิตรไมตรีที่ดียิ่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย

การลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมและคณะรัฐมนตรี รวมถึงข้าราชการจากส่วนกลาง ได้รับประโยชน์อย่างมาก เพราะได้รับข้อมูลโดยตรงจากพี่น้องประชาชน ได้ลงไปเห็นปัญหา และผลงาน รวมถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผมและคณะฯ ตั้งใจไว้แล้ว ว่าจะเดินทางลงพื้นที่เช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ไปยังภาคอื่นๆ ให้ทั่วถึงนะครับ

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์