“ปิยะสกล” ถกอย.แจงชัดกม.ยาเสพติดฉบับใหม่ไม่ผูกขาดนายทุน ส่วนราคาขายปชช.เข้าถึงได้

‘ปิยะสกล’ หารือ อย.แจงกม.ยาเสพติดฉบับใหม่กำหนดชัดไม่ผูกขาด ชี้ 5 ปีป้องต่างชาติ ส่วนราคาขายมีกก.กลางระดับชาติดูแล

ตามที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการคิดเรื่องราคาขายน้ำมันกัญชา เพราะปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดราคาขาย แต่ด้วยพันธกิจ อภ. ไม่สามารถจำหน่ายราคาแพงได้ และต้องมุ่งเน้นให้ประชาชน ผู้ป่วยเข้าถึงยาเป็นหลัก ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมหารือ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายกัญชาที่ไม่ใช่ให้ปลูกเสรี แต่มุ่งเน้นทางการแพทย์เท่านั้น

ความคืบหน้าเรื่องนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงประเด็นกัญชาทางการแพทย์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า เมื่อช่วงเช้าตนได้เชิญ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และทีมงาน มาหารือกันว่า สถานการณ์เรื่องกัญชาขณะนี้เป็นเช่นไร ก็สรุปชัดเจนว่า สิ่งที่ประชาชนต้องรับทราบ คือ กัญชายังเป็นยาเสพติด ซึ่งในระดับโลกอย่างองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่มี 190 กว่าประเทศเป็นสมาชิกรวมถึงไทย ก็ถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ซึ่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ที่ออกมาใหม่ก็ถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติด แต่ยกเว้นที่จะนำมาใช้เพื่อวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ โดยประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) ของสหประชาชาติ ก็บอกว่าเราทำถูกต้องแล้ว สิ่งที่จะเดินหน้า คือ นำเอากัญชาที่คนไทยใช้มานานเอามาเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งเราก็มีศักยภาพอยู่แล้ว

“พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับที่ออกมานี้ ผมยืนยันว่าหลักการคือ มุ่งหวังให้ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากกัญชา ทั้งในแง่ของสังคม ประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ หลายอย่างอยากให้ประชาชนทำความเข้าใจกับ พ.ร.บ.นี้ให้ดี ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใครเลย แต่ทั้งหมดจะกลับมาสู่ประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมประเทศ นี่คือข้อเท็จจริง ส่วน อย.มีหน้าที่กำกับ ไม่ได้มีหน้าที่ไปผลิตอะไร โดยทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งทุกอย่างก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนไทยทั้งสิ้น ไม่ได้เอื้อให้ต่างชาติเลย เพราะฉะนั้น ทุกคนควรไปศึกษา พ.ร.บ.นี้ให้ดี และทุกอย่างเราทำต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์คนใดคนหนึ่ง” นพ.ปิยะสกล กล่าว

เมื่อถามว่า มีคนตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการผูกขาดให้นายทุนโดยภาครัฐ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ถ้าเราไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ทำโดยรัฐ 5 ปี ขณะนี้บริษัทต่างชาติที่ผลิตมาแล้ว เขาสามารถเทเข้ามาได้เลย ซึ่งแบบนี้ไม่ได้ การผลิตและจำหน่ายอะไรก็ตาม ต้องมีองค์กรราชการอยู่ด้วย เพื่อป้องกันเอาไว้ก่อน ดังนั้น 5 ปีนี้ต้องช่วยกัน ไม่ใช่ช่วยกันเพ่งโทษซึ่งกันและกัน ควรรวมกันและสู้กับต่างประเทศมากกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่าราคาขายน้ำมันกัญชาควรเป็นเท่าไร นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าราคาขายควรจะเป็นเท่าไร เพราะยังไม่มีคนบอกว่าควรราคาเท่าไร จะเป็น 100 บาท 200 บาท ก็ไม่ใช่ว่าราคานี้ ต้องมาดูก่อน หลายคนที่หวังดีก็กำลังไปสืบ เราก็พร้อมรับฟัง แต่กว่าจะออกมาได้ก็อีกหลายเดือน เพราะฉะนั้นก็ฟังตามข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ อย่างการผลิต ถ้าผลิตได้จำนวนมาก ราคาก็ถูกลง แต่แน่ๆ คือ ทั้งหมดที่ทำเพื่อประโยชน์ของคนไทย ของผู้ป่วยโดยแท้ อย่าได้ห่วงกังวลเลย ไม่ได้มาขูดเลือดกัน แต่ภายใน 5 ปีที่มีบทเฉพาะกาลไว้ เพื่อประโยชน์ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิต ทั้งยา สารกัญชาประโยชน์ทางการแพทย์ได้ทัน ทันต่างประเทศที่เขาจะเทตลาดเข้ามาในประเทศไทย

เมื่อถามว่า การกำหนดราคากลางคล้ายกำหนดราคากลางยาทั่วไปหรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า คงต้องให้ส่วนที่พิจารณาเรื่องนี้ไปดูในรายละเอียด เราจะไปกำหนดให้เขาไม่ได้ แต่บอกแล้วนโยบายที่ชัด คือ ต้องเกิดประโยชน์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม ต้องเชื่อกันบ้าง เมื่อไรที่เรามีความเชื่อศรัทธาซึ่งกันและกัน หลายอย่างในประเทศนี้จะไปได้ดี

เมื่อถามว่าการกำหนดหลายอย่างทำให้คนอยากปลูกกัญชาเข้าไม่ถึง นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ต้องไปศึกษา พ.ร.บ. ซึ่งกัญชาเป็นยาเสพติด การปลูกจะทำต้องมีการควบคุมที่ชัดเจน ทุกประเทศก็ทำเหมือนกัน เพราะฉะนั้นท่านที่จะเสนออะไรก็ตาม ขอให้ไปศึกษากฎหมายนี้ด้วย เพราะกฎหมายออกมาแล้ว เราอยู่ในประเทศที่ต้องทำตามกฎหมาย กฎหมายไม่ได้เอื้อประโชยน์ให้ผู้ใดผู้หนึ่ง แต่ออกเพื่อกำกับดูแลให้การใช้กัญชาเป็นไปโดยถูกต้องมากกว่า อย่างการปลูกโดยทำในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนก็ทำได้ ไม่ได้กีดกันเลย สิ่งที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำอยู่ เป็นมาตรฐานอันหนึ่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสูง คือ การผลิตตยาโดยมาตรฐานทางการแพทย์หรือเมดิคัล เกรด ซึ่งต่างชาติก็จะเห็นว่าเราทำในระดับนานาชาติจริงๆ แต่ขณะเดียวกันการปลูกก็มีหลายระดับ ปลูกในโรงเรือนเหมือนกับกรีนเฮาส์ก็ได้ หรือปลูกในไร่ก็ได้ แต่ก็ต้องมีการกำกับที่ชัด ไม่ใช่ว่าปลูกที่ไหนก็ได้ ใครจะเด็ดเอาไปใช้ก็ได้ ใครจะดูแลอย่างไร ทุกอย่างต้องมีกฎเกณฑ์ ไม่ได้ทำเพื่อจะไม่ให้เกิดประโยชน์กับผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เกิดกับประเทศชาติจริงๆ

เมื่อถามว่า ต้องมีการทำคู่มือเพื่อให้เข้าใจชัดเจนหรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่จริงกำลังทำอยู่เยอะเลย ทั้งผู้ที่จะใช้และปลูก เพราะฉะนั้น อย่ารีบร้อน การที่ อภ.ทำก่อน เพราะเขาเตรียมมานาน ก็ทำก่อน ก็เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะให้ทุกอย่างออกมาก่อนแล้วเริ่มนับหนึ่งคงไม่ใช่ เหมือนการสร้างตึก สมมติเริ่มวันที่ 1 ต.ค. ค่อยมาเริ่มจัดซื้อจัดจ้าง ปีหนึ่งยังไม่ได้สัญญาเลย ถ้ารู้ว่าได้ 1 ต.ค.ก็ต้องเตรียมล่วงหน้า พอมีสัญญาวันที่ 1 ต.ค.ก็เดินได้เลย เป็นต้น มิเช่นนั้น ประเทศไทยก็ไปไม่ทันคนอื่น

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงกรณีข้อเสนอกำหนดราคากลางขายกัญชาทางการแพทย์ ว่า ตอนนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยังไม่ได้คิดราคาขาย เพราะยังไม่ได้ผลิตออกมา ต้องผลิตออกมาก่อน ซึ่งยังใช้เวลา ตามกำหนดคิดว่าจะผลิตออกมาล็อตแรกเป็นน้ำมันกัญชา 2,500 ขวดในเดือนกรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาขายนั้น หากเป็นยาปกติทั่วไป ก็จะมีคณะกรรมการพิจารณาราคากลางของยาอยู่ เพื่อกำหนดให้โรงพยาบาลต่างๆ มาซื้อได้ ในราคาที่เหมาะสม ส่วนเรื่องกัญชาจะเป็นเรื่องใหม่ ก็ต้องรอว่าจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่าเรื่องราคายังไม่มีการดำเนินการ

เมื่อถามว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมรวบรวมข้อมูลราคาจำหน่าย พร้อมจะหารือกับ อภ. นพ.โสภณ กล่าวว่า ก็หารือกันได้

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ก็มีการหารือกันถึงราคาขายอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องดูตลาดด้วย เนื่องจากช่วงนี้ทาง อภ.จะมุ่งเน้นในเรื่องการปลูก เพื่อให้ได้สารสกัดที่ดีมีคุณภาพก่อน ส่วนเรื่องราคานั้น จะมีคณะกรรมการจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยกำหนดราคากลาง เพื่อไม่ให้สูงเกินจนเกิดปัญหาการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วย ดังนั้น ไม่ต้องกังวล อภ.ไม่สามารถจำหน่ายในราคาสูงจนรับไม่ได้อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะกรรมการกลางในการพิจารณาราคายานั้น จะอยู่ในรูปของอนุกรรมการ ซึ่งอยู่ภายใต้ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนนตรีเป็นประธาน และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเป็นเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งการพิจารณาในราคากลางของยาต่างๆ นั้นก็จะผ่านอนุกรรมการฯชุดนี้ และเสนอเพื่อขอมติจากคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติต่อไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์