สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษพ.ศ. 2562  มีใจความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ  บดินทรเทพยวรางกูร  มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ  ให้ประกาศว่าโดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า  ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ  เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์  เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี  อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175  และมาตรา 179  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 261 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2517จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ คลิกอ่านประกาศฉบับเต็มที่นี่

ทางด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษทุกเรือนจำ143 แห่งทั่วประเทศได้นำไปประกาศให้ผู้ต้องขังได้รับทราบ โดยอาจจะมีผู้ต้องขังที่ได้รับการลดโทษตามสัดส่วนและปล่อยตัวออกจากเรือนจำโดยกรมฯจะเร่งประเมินคุณสมบัติและเงื่อนไขต่างๆเพื่อแยกให้ชัดว่า นักโทษทีจะได้รับการปล่อยตัวมีจำนวนเท่าไหร่ และได้ลดโทษตามชั้นต่างๆเป็นจำนวนเท่าใด โดยจะต้องทำให้แล้วภายใน 4 เดือนหรือ 120 วัน ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบจะดำเนินการอย่างอย่างรัดกุม มีกรรมการ 3 ฝ่ายประกอบด้วยผู้พิพากษา อัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบรายชื่อว่ามีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ได้รับการอภัยโทษหรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จจึงจะส่งรายชื่อให้ศาลออกหมายปล่อย และต้องทยอยปล่อยเป็นรุ่นๆ

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า สำหรับการพระราชทานอภัยโทษให้ผู้ต้องขังถือเป็นโบราณราชประเพณีในวโรกาสเฉลิมฉลองพิธีบรมราชาภิเษกและเป็นธรรมเนียมปฎิบัติสืบต่อกันมา โดยกรมราชทัณฑ์จะจัดพิธีปล่อยตัวพร้อมกับจัดกิจกรรมให้ผู้ที่ได้รับพระทานอภัยโทษแสดงความจงรักภักดีด้วย อย่างไรก็ตามในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้มีบัญชีลักษณะความผิดแนบท้ายที่เป็นคดีหลักและนโยบายสำคัญซึ่งผู้ต้องขังเช่น คดีค้ามนุษย์และค้ายาเสพติด คดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ ทำผิดพ.ร.บ.ป่าไม้ การฮั้วประมูล ก็จะได้ประโยชน์น้อยกว่าผู้ต้องขังคดีอื่น เช่น หากเป็นผู้ต้องขังอายุ เกิน 60 ปีเหลือโทษไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าติดเงื่อนไขในคดีแนบท้ายก็จะไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่จะเปลี่ยนเป็นลดวันต้องโทษตามสัดส่วนบางส่วน เว้นแต่เมื่อลดโทษแล้วไม่เหลือเวลาต้องโทษก็ต้องปล่อยตัวไป

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ต้องขังที่จะได้รับพระราชอภัยโทษประมาณ 4-5 หมื่นคน สำหรับคดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกทำเนียบรัฐบาล ปี 2551 อยู่ในข่ายได้รับการอภัยโทษปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำด้วย เนื่องจากคดีนี้ศาลได้พิพากษาจำคุกผู้ต้องขังทั้ง 5 ราย ประกอบด้วยพล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี, นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี เป็นเวลา 8 เดือนตั้งแต่วันที่ 13 กพ.ที่ผ่านมา ยกเว้นนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งแม้จะมีอายุเกิน 70 ปี แต่เนื่องจากต้องโทษหลายคดีและมีคดีที่เข้าเงื่อนไขบัญชีแนบท้ายคดีเกี่ยวกับความผิดตลาดหลักทรัพย์จึงไม่อยู่ในข่ายได้รับการปล่อยตัว ส่วนคดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ไม่อยู่ในข่ายได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากต้องโทษจำคุก และยังติดเงื่อนไขต้องโทษในคดีทุจริตปฎิบัติหน้าที่มิชอบ ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อายุยังไม่ถึง 60 ปี และต้องโทษหลายคดี อาจได้ลดวันต้องโทษ

 

ที่มา:มติชนออนไลน์