“กรีนพีซ” จี้รัฐบาลกำหนดนโยบายปกป้องเกษตรกรจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูที่ระบาดทั่วเอเชีย

ภาพประกอบจาก pixabay

วันที่ 27 มิถุนายน 2562 กรีนพีซชี้รัฐบาลไทยต้องยกระดับมาตรการป้องกันอุตสาหกรรมหมูจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูที่กำลังคุกคามอุตสาหกรรมหมูของเอเชีย เพื่อไม่ให้ไทยกลายเป็นประเทศต่อไปที่เผชิญกับหมูติดเชื้อจากภัยระบาด

เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วเอเชีย โดยประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่มีการตรวจพบการแพร่ระบาดของโรคนี้ในเอเชีย เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้จีนจำเป็นต้องกำจัดหมูจำนวนราว 200 ล้านตัว ส่วนกระทรวงเกษตรของเวียดนามระบุในรายงานว่า เวียดนามกำจัดหมูไปแล้วกว่า 2.8 ล้านตัว คิดเป็นเกือบร้อยละ 10 ของหมูในประเทศทั้งหมดจำนวน 30 ล้านตัว

สำหรับประเทศไทย กรมปศุสัตว์ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศสั่งชะลอการนำเข้าหมูจากลาวเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน เพื่อป้องกันการระบาดในไทย อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องมีวิสัยทัศน์มองไกลไปกว่าการชะลอการนำเข้าหมูจากลาวหรือประเทศอื่น และเร่งดำเนินการเชิงนโยบายและสร้างนโยบายที่ปกป้องเกษตรกรจากการคุกคามของโรคระบาด รวมถึงออกกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า  รัฐบาลไทยต้องสนับสนุนนโยบายเกษตรกรรมเชิงนิเวศอย่างจริงจัง รวมถึงนำมาพัฒนาปฏิบัติใช้จริงเพื่อแก้ปัญหาระบบอาหารในปัจจุบัน เนื่องจากระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเชิงปริมาณเพื่อต้นทุนอาหารที่ถูกที่สุดนั้นต้องแลกมาด้วยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม

“เกษตรกรไทยและผู้บริโภคไม่ควรจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในวิกฤตจากระบบอาหารเชิงอุตหกรรม สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดคือ ประเทศไทยจะต้องมีนโยบายการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะตลอดช่วงห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เพื่อปกป้องผู้บริโภคและวิถึชึวิตของเกษตรกรรายย่อยในประเทศ”

วิกฤตโรคอหิวาต์แอฟริกาในขณะนี้คือสัญญาณชี้ชัดว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะลดการสนับสนุนอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงนิเวศ โดยเริ่มต้นจากการพัฒนานโยบายการระบุข้อมูลอย่างโปร่งใสบนฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ที่ระบุถึงกระบวนการผลิตต่าง ๆ  เพื่อคืนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและการเลือกบริโภคของประชาชน

“การออกกฎหมายฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมทุกประเภท คือการแจ้งผู้บริโภคให้รับทราบถึงข้อมูลของเนื้อสัตว์ที่เลือกซื้อ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมสิทธิพื้นฐานในการรับรู้ข้อมูลของประชาชน เช่น ข้อมูลของที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและการก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์ อันเกิดมาจากการเลี้ยงสัตว์ในปริมาณมหาศาลของระบบอุตสาหกรรม ข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์คือสิ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ทั้งดีต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมเกษตรกรที่ผลิตอาหารอย่างใส่ใจและปลอดภัย” ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว