รอบสุดท้าย 12 ก.ย.! ประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ยางฉบับแรกของไทย ก่อนใช้จริงปลายปี

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี (2560-2579) เปิดเผยว่าในวันที่ 12 กันยายนนี้ กยท.จะจัดทำประชาพิจารณ์รอบสุดท้ายร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ยางพาราฉบับแรกของประเทศไทย ที่ กยท.สำนักงานใหญ่ เขตบางกอกน้อย เวลา 9.00-12.00 น. โดยหลังจากจัดทำประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะทำงานฯจะนำความคิดเห็นไปปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ยาง เพื่อให้เป็นยุทธศาสตร์ยางที่สมบูรณ์ ก่อนนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คาดว่าแผนยุทธศาสตร์จะสามารถประกาศใช้ได้ปลายปี 2560

ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “เป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตและการส่งออกยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา” เป้าหมายสูงสุดช่วง 20 ปี คือ การเพิ่มปริมาณผลผลิตยางเฉลี่ยของทั้งประเทศ เป็น 360 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ปริมาณซื้อขายยางในตลาดยาง กยท. เพิ่มขึ้นเป็น 2,000,000 ตันต่อปี เพื่อให้เป็นตลาดใช้ในการอ้างอิงได้ทั่วโลก เพิ่มการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ คิดเป็นสัดส่วน 10 % ของการใช้ยางภายในประเทศ เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศจาก 14% เป็น 30% เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ยางพารา เป็น 800,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มมูลค่าเงินลงทุนทางตรง จากต่างประเทศในอุตสาหกรรมยางพารา เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 เหรียญสหรัฐต่อปี

“ยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ไว้เป็น 4 ระยะ และระยะละ 5 ปี โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราในระยะ 1-5 ปี นั้นจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาระบบการผลิตให้มี ประสิทธิภาพ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพารา ในระยะ 6-10 ปี เน้นพัฒนาระบบตลาดทั้งใน และต่างประเทศ ส่วนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราในระยะ 11-15 ปี จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรม และอุตสาหกรรม และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราในระยะ 16-20 ปี มุ่งเน้นไปที่การดำเนินการตามระบบให้งานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ”

สำหรับยุทธศาสตร์ทั้งหมดประกอบด้วย 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ 19 กลยุทธ์ย่อย โดยประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประเด็นนั้น ประกอบด้วย 1.การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีเป้าหมายเพื่อผลักให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นและสม่ำเสมอ ยกระดับสถาบันเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็ง มีการบริหารงานแบบมืออาชีพ และมีขีดความสามาถในการทำให้ธุรกิจแปรรูปยาง ไม้ยาง และเป็นที่พึ่งของเกษตรกรได้ รวมทั้งช่วยให้เกษตรกรรุ่นใหม่ มีความพร้อมที่จะรับสืบทอดกิจการต่อจากบิดามารดา
2.การเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตยางต่อหน่วยพื้นที่ให้สูงขึ้น ลดต้นทุนในการผลิตยางลง 3.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลงานวิจัย นวัตกรรม สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราให้มีจำนวนมาก 4.การพัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมปริมาณการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้น และยกระดับมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ยางให้สูงขึ้น และ 5.การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน มีเป้าหมายเพื่อให้มีกฎหมาย กฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาง

“ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หรือ ตั้งแต่ปี 2540 – 2560 สถานการณ์ยางพาราของไทย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ชาวสวนยาง และผู้ส่งออก ยังเน้นขายเพียงผลิตภัณฑ์ยางขั้นพื้นฐานเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยไม่มียุทธศาสตร์ยางที่ชัดเจน เชื่อว่า เมื่อยุทธศาสตร์ยางเกิดขึ้นแล้ว จากนี้จนถึง 20 ปี ทิศทางยาง และสถานการณ์ราคาจะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งต่อไปไทยจะไม่ใช่เพียงผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ไปสู่สินค้ายางที่มีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายธีธัชกล่าว

Advertisment

 

ที่มา : มติชนออนไลน์