“ธรรมศาสตร์” จับมือ มหาวิทยาลัยฮอกไกโดศึกษาวิจัยหยุดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่

ธรรมศาสตร์ลงนาม MOU ความร่วมมือทางวิชาการมหาวิทยาลัยฮอกไกโดขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสาธารณสุข พร้อมจัดปาฐกถาหยุดยั้งวิกฤตเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ในโอกาสครบ 85 ปี แนะนำประชาชนกลุ่มเสี่ยง ฉีดทุกปี ป้องกันไวรัสเปลี่ยนสายพันธุ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขร่วมกัน และปาฐกถาเกียรติยศในเรื่อง “ความพร้อมในการรับมือ การระบาดของไข้หวัดใหญ่?” ในโอกาสครบรอบ 85 ปี โดย ศ.ดร.นายสัตวแพทย์ ฮิโรชิ คิดะ ผู้อำนวยการ Hokkaido University Research Center for Zoonosis Control ร่วมด้วย

ศ.ดร.นายสัตวแพทย์คิดะ กล่าวปาฐกถาเกียรติยศ ความพร้อมในการรับมือ การระบาดของไข้หวัดใหญ่?” ว่า เชื้อ H5N1 เป็นไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงที่ระบาดมาจากสัตว์ปีกและติดต่อมายังคน ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในภูมิภาคเอเชียมาตั้งแต่ปี 2540 และแพร่สู่ยุโรป แอฟริกา อเมริกาเหนือ กระทั่งมีการเกิดไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 อุบัติขึ้นมา โดยพบการติดเชื้อจากสัตว์ปีกสู่คนปรากฏขึ้นครั้งแรกในจีน

ไวรัสไข้หวัดนกทั้งสอง 2 สายพันธุ์นี้สร้างความกังวลให้วงการสาธารณสุขเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น มีโอกาสที่ไวรัสจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ส่งผลให้มีความสามารถติดเชื้อและแพร่กระจายในมนุษย์มากขึ้น

ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมการในเรื่องของวัคซีนเพื่อเตรียมพร้อมต่อการป้องกันและควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกให้เกิดประสิทธิภาพ

มหาวิทยาลัยฮอกไกโด มีการเก็บคลังเชื้อไวรัสไข้หวัดนกกว่า 4,000 สายพันธุ์ จาก 144 สับไทป์ของไวรัส (ฮีแมกกลูตินิน 16 สับไทป์ และ นิวรามินิเดส 9 สับไทป์) เพื่อใช้เป็นวัคซีนรองรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในอนาคต ทั้งนี้การทดลองวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัส H1N1, H5N1, H6N2, H7N7, H7N9 และ H9N2 สามารถสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองเมื่อถูกทำให้ติดเชื้อด้วยไวรัสได้

“สถาบันการศึกษาของญี่ปุ่นให้ความสำคัญและร่วมมือกันอย่างดีในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นการขยายผลความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์ที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาการศึกษาวิจัย ป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชนได้มากขึ้น”

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผย ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความร่วมมือทางการศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์กับมหาวิทยาลัยฮอกไกโด มายาวนานกว่า 4 ปีแล้ว โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ระหว่างบุคลากร รวมถึงการวิจัยและพัฒนายารักษาโรคและวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ได้ผลเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบการระบาดต่อเนื่องทุกปี

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมจะขยายผลความร่วมมือด้านการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักศึกษาระดับปริญญาเอกให้เกิดบุคลากรรุ่นใหม่ด้านสาธารณสุขที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

“งานวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยฮอกไกโดด้านสาธารณสุขมีมายาวนาน ถูกนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมในการดูแลสุขภาพของคนไทย เราจะสานต่อความร่วมมือในเชิงลึกมากขึ้นทั้งด้านการพัฒนาบุคลากรและวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่างๆ”

ด้าน ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีโอกาสเป็นซ้ำได้ ดังนั้น ในทางการแพทย์จึงแนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงได้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จะเป็นอันตรายกับลูกในท้อง เด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น

“ผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและการป้องกันของประชาชนช่วงเวลาต่างๆ นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาวัคซีนให้สอดรับกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงแล้ว การยับยั้งแพร่ระบาดจึงต้องขึ้นกับประชาชนด้วย หมั่นดูแลรักษาสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันและเมื่อป่วยแล้วก็ควรจะรักษาดูอาการอยู่ที่บ้าน เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายแพร่กระจายต่อไป”