ปิดโรงงานพุ่งเซ่นพิษเศรษฐกิจ บิ๊กซี-โลตัสขอจ้างรายชั่วโมง

พิษโควิด-19 ทำเศรษฐกิจดิ่งหนัก ยอดปิดกิจการ 6 เดือน พุ่ง877 แห่ง แรงงานถูกลอยแพกว่าหมื่นราย กระทรวงแรงงานเกาะติดสถานการณ์เข้ม เห็นสัญญาณเสี่ยงส่งทีมประกบหาทางออก หวังชะลอเลิกจ้าง ชี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีกอ่วมสุด ด้านสมาคมผู้ค้าปลีกไทยดอดยื่นหนังสือรัฐเปิดทางจ้างพนักงานรายชั่วโมง-แก้กฎรับ “คนพิการ-สูงวัย-ต่างด้าว” ลดต้นทุน

นายอภิญญา สุจริตตามนันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลายปัจจัยลบที่เข้ามากระทบตั้งแต่ปัญหาค่าเงินบาท สงครามการค้า ภัยแล้ง รวมทั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม ส่งผลให้สถานประกอบการรายกลางจนถึงรายเล็ก (SMEs) ต้องปิดกิจการต่อเนื่อง

ยอดปิดกิจการหนีตายพุ่ง

ขณะเดียวกันจากสถิติพบว่าจากรอบปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561-ก.ย. 2562 มีสถานประกอบการปิดกิจการ 1,017 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7,700 คน แต่ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562-มี.ค. 2563 พบว่าสถานประกอบการปิดกิจการสูงถึง 877 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบรวม 10,289 คน ถือเป็นตัวเลขก้าวกระโดด ประกอบกับปัจจุบันนอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยังรุนแรง จึงน่าห่วงว่าในปี 2563 การปิดกิจการของสถานประกอบการจะยิ่งมีเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการปิดกิจการอย่างผิดกฎหมาย ไม่มีความรับผิดชอบต่อลูกจ้างที่ควรได้รับสิทธิ เช่น เงินเดือน และเงินเพื่อเยียวยาในช่วงตกงาน ขณะนี้กรมสวัสดิการฯจึงต้องลงพื้นที่และโฟกัสไปที่การเฝ้าระวังสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง-อ้อม และกิจการที่มีความเสี่ยงที่จะเลิกกิจการ โดยจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำ เสนอแนวทางร่วมกันให้กับทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ธุรกิจ “ชะลอ” การเลิกจ้างพนักงานออกไปให้นานที่สุด นอกจากนี้จะเฝ้าระวัง 5 สัญญาณอันตรายที่ชี้ว่า สถานประกอบการอาจมีความเสี่ยงปิดกิจการ 1) ลดทำงานล่วงเวลา 2) หยุดกิจการชั่วคราว 3) มีการใช้พนักงานบริษัทโดยตรงมากขึ้น และลด subcontract 4) จ่ายค่าจ้างตรงตามวัน-เวลาหรือไม่ และ 5) มียอดค้างจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคม เป็นต้น

Advertisment

“กิจการในภาคผลิตที่ได้รับผลกระทบชัดเจนขณะนี้ อาทิ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มผู้ค้าปลีก”

ค้าปลีกขอแก้กฎจ้างรายชั่วโมง

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ภาคท่องเที่ยว และวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทำให้ภาคธุรกิจหลายสาขาถูกกระทบหนัก ล่าสุดสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ซึ่งมีผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่รวมอยู่ด้วย อาทิ บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส ซีพี ออลล์ แม็คโคร เดอะมอลล์ เซ็นทรัล ฯลฯ ได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยสรุปประเด็นปัญหา ข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไขปัญหาการจ้างงานในระบบธุรกิจค้าปลีก

1.ให้สามารถจ้างพนักงานพาร์ตไทม์ แรงงานทั่วไป แบบยืดหยุ่นรายชั่วโมง โดยเสนอมาตรการการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง และสามารถกำหนดค่าจ้างรายชั่วโมงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นการชั่วคราว

Advertisment

ยื่นแก้กฎรับคนพิการ-สูงวัย

2.การจ้างแรงงานคนพิการ เสนอรัฐตั้งศูนย์บริการ one stop service มีกรมการจัดหางาน สนง.ประกันสังคม กรมสรรพากร อำนวยความสะดวกองค์กรที่ติดต่อยื่นเรื่องคนพิการ เข้า-ออกจากงาน ขอลดหย่อนเงินส่งหรือค่าปรับจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง ขอขยายเวลารับคนพิการเข้าทำงานแทนคนเดิมที่ลาออก ตาย จากเดิม 45 วัน ขยายเป็นไม่เกิน 90 วัน ออกกฎหมายให้สิทธิและผลประโยชน์นายจ้างสถานประกอบการที่ว่าจ้างคนพิการเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยให้คืนในรูปของเงิน หรือภาษีพิเศษ ฯลฯ

3.การว่าจ้างแรงงานผู้สูงอายุจาก 60 ปีขึ้นไป ขอให้พิจารณาเป็น 55 ปีขึ้นไป ให้สอดคล้องกับกฎหมายประกันสังคม ได้ ฯลฯ แก้ค่าจ้างผู้สูงอายุจากไม่เกินเดือนละ 1.5 หมื่นบาท เป็นไม่เกิน 3 หมื่นบาท เพื่อจูงใจ กรณีไม่สามารถเพิ่มค่าจ้างได้ ให้แก้กฎหมายการลดหย่อนภาษี ให้นายจ้างนำไปหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ของค่าจ้างที่จ่ายจริง จากปัจจุบันไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ฯลฯ

4.การจ้างแรงงานต่างด้าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานในการกำหนดเงื่อนไข ระยะเวลา แนวทางปฏิบัติทางกฎหมายให้สอดคล้องกัน ให้กำหนดสัดส่วนการรับแรงงานต่างด้าวในห้างค้าปลีก ให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานในร้านอาหารได้ เป็นต้น

รง.ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ระส่ำ

ด้านนายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ 200 บริษัท ต้องปิดกิจการ คณะกรรมาธิการได้รับการร้องเรียนจากลูกจ้างจำนวนมากใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1) การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 2) ลดทอนสิทธิ์และสวัสดิการที่ลูกจ้างควรได้รับ 3) นายจ้างปิดกิจการชั่วคราว โดยให้ลูกจ้างหยุดงานแต่ไม่ได้รับค่าจ้าง คณะกรรมธิการจึงได้รวบรวมข้อมูลผลกระทบของสถานประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน ตั้งโจทย์เพื่อนำเข้าหารือกระทรวงแรงงาน 2 ประเด็น 1) การเตรียมความพร้อมรองรับกรณีปิดกิจการของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 2) การบังคับใช้กฎหมายในการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ใช้แรงงาน การจัดอบรมเพิ่มทักษะให้กับแรงงานที่อยู่ระหว่างรองาน เป็นต้น

ยอดยกเลิกทะเบียนโรงงานพุ่ง

ข้อมูลจำหน่ายทะเบียนโรงงานรายกลุ่มอุตสาหกรรม ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ณ วันที่ 28 ก.พ. 2563 มีการจำหน่ายทะเบียนโรงงานรวมทั้งหมด 151 โรงงาน จำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบรวม 6,692 คน เงินทุน 1.87 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม การผลิตอื่น ๆ 38 โรงงาน ผลิตภัณฑ์พืช 25 โรงงาน ผลิตภัณฑ์พลาสติก 15 โรงงาน ผลิตภัณฑ์อาหาร 11 โรงงาน ผลิตภัณฑ์อโลหะ 11 โรงงาน ส่วนปี 2562 ยอดจำหน่ายทะเบียนโรงงานรวม 207 โรงงาน จำนวนคนงาน 9,921 คน เงินทุน 2.25 หมื่นล้านบาท