รมว.สาธารณสุข ส่งไลน์ด่วน ถึง รพ.ทั่วประเทศ สั่งทำแผนกู้ฉุกเฉิน 45,000 ล้าน

แฟ้มภาพ

ในแหล่งข่าวจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน มีผลบังคับใช้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำงบประมาณ ภายใต้กรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท โดยส่งข้อความสั่งการผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ กลุ่ม “ผู้บริหารราชการกระทรวงสาธารณสุข” ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่ม ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการ โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขนิเทศก์ ทั้ง 12 เขต (ทั่วประเทศ)

ระบุข้อความว่า “เรียนพี่น้องผู้บริหาร สธ.ทุกท่านครับ กระทรวงสาธารณสุขของเราจะต้องนำเสนอ งบประมาณในวงเงิน 45,000 ล้านบาท เพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 จากนี้ไป งบประมาณนี้ได้รับการจัดสรรมาตามมติ ครม. ที่อนุมัติในที่ประชุมเมื่อวานนี้ เราควรต้องจัดการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งกระทรวงต้องการให้ผู้บริหารทุกท่าน มีส่วนร่วมและนำเสนอข้อแนะนำดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และความก้าวหน้าของกระทรวงสาธารณสุข”

“ผมอยากเน้นให้ทุกท่านได้ใช้หลักการพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจที่เสียหายไปและการช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชนในช่วงนี้ หากงบประมาณนี้จะได้ถูกหมุนเวียนใช้เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเงินภายในประเทศได้มากที่สุด ก็จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือประชาชนในขณะเดียวกันด้วย พยายามใช้ของที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด อุดหนุนกิจการของคนไทยให้มากที่สุด กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นที่ศรัทธาและเชื่อมั่นของประชาชนอย่างล้นหลาม เราดูแลประชาชนในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องการสาธารณสุขเท่านั้น เยียวยาทุกอาการ ผมในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกระทรวงนี้จึงขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันคิดให้ละเอียดและนำเสนอมาตามสายงานบังคับบัญชาเพื่อนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด หากเป็นไปได้ จะขอเชิญประชุมร่วมภายในปลายสัปดาห์หน้าครับ เพื่อที่ท่านทั้งหลายจะได้มีเวลาเตรียมตัวให้ดีที่สุด ขอให้ทุกท่านเริ่มดำเนินการทันทีนะครับ ขอบพระคุณมากครับ”

ตามกรอบของ พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน เพื่อการสาธารณสุข ประกอบด้วย

Advertisment

1.แผนงานหรือโครงการที่รองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้นำชาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2.เพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์

3.แผนงานหรือโครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกัน ควบคุมโรค รวมทั้งการวิจัยพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการฟื้นฟูด้านการสาธารณสุขของประเทศ

4.แผนงานหรือโครงการเพื่อการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

Advertisment

5.แผนงานหรือโครงการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019