จัดซื้อวัคซีนด่วน บ.ซิโนเวค 2 ล้านโดส 1,228 ล้านบาท

วัคซีนโควิด
WANG ZHAO / AFP

ครม. เห็นชอบจัดหาวัคซีนระยะเร่งด่วนจากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จำนวน 2 ล้านโดส วงเงิน 1,228 ล้านบาท

วันที่ 5 มกราคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบจัดหาวัคซีนระยะเร่งด่วนจากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) จำนวน 2 ล้านโดส วงเงิน 1,228 ล้านบาท ดังนี้

  • เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 200,000 โดส แบ่งออกเป็น สำหรับส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จำนวน 20,000 คน สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีสภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ จำนวน 180,000 คน
  • เดือนมีนาคม 2564 จำนวน 800,000 โดส แบ่งออกเป็น สำหรับฉีดเข็มที่ 2 ให้กับกลุ่มที่ 1 จำนวน 200,000 โดส และสำหรับกลุ่มจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ชายแดนภาคจะวันตก ภาคใต้และบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ รวมถึงอสม. จำนวน 600,000 โดส รวมจำนวน 600,000 คน และกลุ่มติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ 540,000 คน
  • เดือนเมษายน 2564 จำนวน 1 ล้านโดส โดยจะฉีดเข็มที่ 2 ให้กับกลุ่มที่ฉีดไปแล้ว 600,000 โดสแรก จำนวน 600,000 คน ส่วนอีก 400,000 โดส ให้กับบุคลากรอื่น ๆ เพิ่มเติม

ดังนั้น 2 ล้านโดสแรกจะเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายน 2564 สำหรับประชาชน 1 คนจะต้องได้รับการฉีดจำนวน 2 โดส

ซื้อ บ.แอสตราเซเนก้าเพิ่ม 35 ล้านโดส

นายอนุชากล่าวว่า นอกจากนี้ยังนายกรัฐมนตรีอนุมัติจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนก้า จำกัด เพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส เพื่อฉีดวัคซีนให้กับคนไทยไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด เนื่องจากก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมีการจองซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนก้า จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส คาดว่าจะนำเข้ามายังประเทศไทยราวกลางปี 2564 ดังนั้นเท่ากับว่าวันนี้เรามีวัคซีนสำหรับฉีดให้คนไทยรวมทั้งสิ้น 63 ล้านโดส ภายในปี 2564

ทั้งนี้ วัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทยต้องขึ้นทะเบียนอาหารและยา (อย.) จากจีน และเมื่อเข้ามายังประเทศไทยต้องผ่านการรับรองจากอย.ของประเทศไทยด้วย โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้นำวัคซีนเข้ามาและกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานจัดซื้อและกระจายไปสู่ประชาชน