เปิดผลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำปี 64 ห่วง เหนือ-กลาง แล้งต่อเนื่อง

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เปิดผลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำปี 2564 คล้ายกับปี 2539 ฝนมาเร็ว-พายุฤดูร้อนซัดหลายรอบ ยกเว้นเหนือ-กลาง ยังแล้ง สัญญาณเตือนแรกน้ำเค็มรุกหนักเจ้าพระยาสูงสุดในรอบ 10 ปี เตือนคนไทยใช้น้ำประหยัด พร้อมโชว์ตัวอย่างความสำเร็จแก้ภัยแล้ง น้ำท่วมใน 1,773 หมู่บ้าน

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เผยว่าปริมาณฝนสะสมประเทศไทยในปี 2563 มีน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 4 ทำให้เกิดฝนน้อยกว่าปกติ 2 ปีติดต่อกัน (2562-2563) โดยเฉพาะภาคเหนือที่ฝนน้อยกว่าปกติถึงร้อยละ 17 ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ มีน้อย โดยเฉพาะปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาทิ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

ซึ่งเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2563 เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูแล้ง มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 5,771 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝนที่จะต้องเตรียมไว้ประมาณ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ต้องงดการส่งน้ำทำนาปรังในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลักประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และต้องดึงน้ำมาจากลุ่มน้ำแม่กลองประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตรมาเพื่อผลักดันน้ำเค็ม

ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้ใน 4 เขื่อนหลักเพียง 3,884 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูลวันที่ 17 ก.พ.64) ทำให้ฤดูแล้งปี 2563 และ 2564 มีน้ำไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการเกษตร ซึ่งภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดทำนาปรังแล้ว เนื่องจากจำเป็นต้องเก็บน้ำไว้ใช้อย่างอื่นประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ตอนนี้ระบายน้ำตามแผนมาแล้ว 2,524 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังต้องระบายน้ำมาอีกกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง 976 ล้านลูกบาศก์เมตร

แต่ปัจจุบันเกษตรกรกลับทำนาปรังไปแล้วมากกว่า 2.8 ล้านไร่ สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และตามคลองชลประทานจนน้ำเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาหลายแห่งมีไม่เพียงพอ และเริ่มมีข่าวแย่งน้ำกันเกิดขึ้นแล้ว ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนในฤดูแล้งปี 2564 นี้อาจเกิดการสูบน้ำออกไปจากระบบเพิ่มมากขึ้น การประปาหลายแห่งที่ใช้น้ำจากคลองชลประทานอาจเกิดปัญหาขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ดร.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำเค็มในเจ้าพระยาสูงมากสุดที่เคยตรวจมาในรอบ 10 ปี ค่าความเค็มวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา สูงถึง 2.53 กรัมต่อลิตร เกินมาตรฐานผลิตประปาที่ต้องไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร และยังเกินมาตรฐานใช้ทำเกษตรที่ 2.0 กรัมต่อลิตรด้วย แม้ว่าตอนนี้ความเค็มจะลดลงแล้ว แต่ก็ยังมีแนวโน้มเค็มต่อเนื่อง เพราะปริมาณน้ำจืดในเจ้าพระยามีน้อย ปีที่ผ่านมาเราได้ใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองที่มีเขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญมาช่วยใช้ในการผลักดันน้ำเค็มของเจ้าพระยา

แต่ในปีนี้น้ำในเขื่อนทั้งสองกลับมีน้อยมาก ซึ่งปัจจุบันมีบริมาณน้ำใช้การประมาณ 3,662 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอสำหรับใช้ในลุ่มน้ำแม่กลองเท่านั้น โดยอาจมีน้ำเหลือพอที่จะผันมาช่วยฝั่งเจ้าพระยาได้เพียง 350ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งไม่เพียงพอต่อการพลักดันน้ำเค็มอย่างเช่นปีที่แล้วที่ผันมาจากแม่กลองช่วยถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในขณะนี้ภาครัฐกำลังเร่งหาทางแก้ไขปัญหา ฉะนั้นจึงต้องร่วมกันวางแผนใช้น้ำอย่างรอบครอบให้ผ่านมีนาคมนี้ เพราะคาดว่าเมษายน ฝนจะมาเร็วและเริ่มตกมากขึ้น

“จากการวิเคราะห์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ และมหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นทะเลที่ส่งผลต่อสภาพอากาศและฝนในประเทศไทยล่าสุดนั้นคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์ฝนปี 2564 จะคล้ายคลึงกับปี 2539 ที่มีปริมาณฝนมากในช่วงเดือนเมษายน และเกิดพายุฤดูร้อนเข้ามาในปีเดียวถึง 4 ลูก

และคาดว่าปีนี้ก็จะมีฝนเดือนเมษายนเช่นเดียวกัน และจะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติในภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือและใต้ และอาจเกิดพายุฤดูร้อนได้บ่อยครั้งจะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลง ยกเว้นภาคเหนือและกลาง ที่ฝนจะตกน้อยกว่าพื้นที่อื่น ดังนั้นเกษตรกรต้องช่วยตัวเอง โดยทำแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ของตัวเองเอาไว้ใช้ รวมถึงปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน ส่วนประชาชนทั่วไปควรใช้น้ำอย่างประหยัด”

ตัวอย่างแก้น้ำท่วม-ภัยแล้งในชุมชน

ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า สสน.ร่วมกับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ และเอกชนหลายแห่ง อาทิ เอสซีจี, มูลนิธิบัวหลวง, กลุ่มTCP ฯลฯ แก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมมาตลอด 7 ปีผ่านโครงการต่างๆ ทำให้ปัจจุบันจากแกนนำตัวอย่าง 60 ชุมชน ขยายผลเป็น 1,773 ชุมชนแล้ว โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการฟื้นฟูป่า บำรุงซ่อมแซมฝาย ระบบน้ำของชุมชน ทำให้มีน้ำสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้ง เกิดความมั่นคง ด้านน้ำ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร ไม่เป็นภาระของรัฐบาลในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายของแปลงเกษตรจากภัยแล้ง หรือน้ำท่วม

สำหรับการทำงานของ สสน.เริ่มทำงานจากพื้นที่ที่แล้งที่สุดก่อน เช่น ชุมชนภูถ้ำภูกระแต จ.ขอนแก่น มีปริมาณฝนเพียง 900 มิลลิเมตร จากค่าเฉลี่ย 1,400 มิลลิเมตร แนะนำให้ทำคลองดักน้ำหลากไว้ใช้ในหน้าแล้ง เพราะเป็นพื้นที่ภูมิประเทศเป็นลอนคลื่นมีน้ำไหลจากที่สูง จึงให้ทำคลองดักน้ำหลาก เมื่อฝนตกลงมาก็ไหลมาเข้าคลอง ชาวบ้านจะต่อท่อแจกจ่ายน้ำไปยังบ้านเรือนสำหรับกิน ใช้ในแปลงเกษตร โดยจะใช้น้ำจากที่สูงก่อน และลดระดับลงไปเรื่อยๆ ทำให้นำน้ำมาใช้หมุนเวียนได้หลายรอบ

หรือพื้นที่บ้านลิ่มทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ทำ “ถนนน้ำเดิน” ระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร โดยใช้ถนนในชุมชน เมื่อฝนตกลงมา ถนนน้ำเดินจะบังคับน้ำให้ไหลไปตามถนน และขุดสระรับน้ำจากถนน ปัจจุบันชาวบ้านมีน้ำกิน น้ำใช้อย่างมั่นคง และขยายผลจากชุมชน ที่มีพื้นที่ 3,700 ไร่ ไปสู่ชุมชนใกล้เคียง สามารถเพิ่มพื้นที่เป็น 20,000 ไร่

“การที่ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้อย่างมั่นคง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะปลูกพืชที่เหมาะสมกับน้ำ และยังปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี และเก็บขายได้ตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และในบางชุมชนแกนนำ หน่วยงานรัฐได้เข้าไปทำเรื่องท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้ชุมชนอีกทาง แต่การเปลี่ยนความคิดชุมชนได้เป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกักเก็บน้ำ หรือเปลี่ยนจากปลูกพืชใช้น้ำมากมาเป็นพืชใช้น้ำน้อยก็ตาม ฉะนั้นสสน.ต้องเร่งสร้างตัวอย่างความสำเร็จ ให้ชุมชนรอบๆ เห็น และมีความคิดอยากทำตาม จนเกิดการขยายเครือข่ายออกไปอีก”